ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.45 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS เผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.45 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.51 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.45 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.51 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 34.38-34.57 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวมที่ส่งผลให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงบ้าง ส่วนราคาทองคำก็สามารถรีบาวด์ขึ้นได้เล็กน้อย
ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ท่ามกลางความหวังว่า รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะออกมาสดใสและดีกว่าคาด โดยเฉพาะผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (Nvidia +2.4%, Microsoft +1.7%) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.28% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่ได้ปรับตัวขึ้นร้อนแรงมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ นี้
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องกว่า +0.48% นำโดยการปรับตัวขึ้นแรงของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Anglo American +4.8%, Rio Tinto +4.2%) ที่ได้รับอานิสงส์จากการที่ทางการจีนส่งสัญญาณพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหลังการประชุม Politburo ได้เสร็จสิ้นลงในวันก่อน อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปยังคงถูกจำกัดโดยท่าทีของผู้เล่นในตลาดที่ต่างรอลุ้นผลการประชุมเฟดรวมถึงธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ รวมถึงรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ที่ปรับตัวขึ้นดีกว่าคาดนั้น ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 3.90% อีกครั้ง (แกว่งตัวในกรอบ 3.88%-3.93% ในช่วงคืนก่อนหน้า) ซึ่ง เราคงแนะนำให้ นักลงทุนรอจังหวะบอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น เพื่อทยอยเข้าซื้อ
ทางด้านตลาดค่าเงิน แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าคาด แต่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดก็ทำให้ ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยลดสถานะการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินดอลลาร์ลง ทำให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 101.3 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 101.2-101.7 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าตลาดจะเปิดรับความเสี่ยงและบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวสูงขึ้น แต่การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ยังพอช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 1,966 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังไม่ปรับสถานะถือครองทองคำที่ชัดเจน จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งทิศทางเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ระยะยาว
สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอาจมีไม่มากนัก โดยในฝั่งไทย บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ดุลการค้า (Trade Balance) เดือนมิถุนายนอาจขาดดุล -800 ล้านดอลลาร์ หลังยอดการส่งออก (Exports) หดตัวต่อเนื่องกว่า -6.3%y/y ตามการชะลอตัวลงของบรรดาเศรษฐกิจคู่ค้า
และนอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงไฮไลท์สำคัญอย่างการประชุม FOMC ของเฟด ที่จะรับรู้ผลการประชุมในช่วงเวลา 01.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยเรามองว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +25bps สู่ระดับ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาอย่างใกล้ชิดว่า เฟดจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หรือ รอประเมินสถานการณ์ไปก่อน อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า การขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ จะเป็น “ครั้งสุดท้าย” ของวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ หลังแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงมากขึ้น (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE เดือนมิถุนายน ที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ ก็อาจชะลอลงสู่ระดับ 4.2%) อีกทั้งภาวะสินเชื่อ (Credit Condition) ก็ตึงตัวมากขึ้นชัดเจน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ท่าทีของผู้เล่นในตลาดที่รอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟด รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ เงินบาทไม่ได้กลับมาแข็งค่าขึ้นชัดเจน หรือได้รับอานิสงส์น้อยจากการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินหยวนจีน (CNY) ในช่วงวันก่อนหน้า หลังทางการจีนส่งสัญญาณพร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทำให้เราคงมองว่า ค่าเงินบาทก็อาจจะยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน จนกว่าปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าจะเริ่มคลี่คลายลง
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด โดยเรามองว่า หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามคาด พร้อมส่งสัญญาณชัดเจน เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องตาม Dot Plot ล่าสุด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับเพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมครั้งถัดๆ ไป ภาพดังกล่าวก็อาจหนุนให้ เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้บ้าง (จะแข็งค่าขึ้น มาก หรือ น้อย อาจขึ้นกับ ความชัดเจน/หนักแน่นของเฟด และโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดมองสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน ตลาดให้โอกาสไม่เกิน 36%) แต่ทว่า หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ ส่งสัญญาณว่า เฟดจะรอประเมินสถานการณ์ก่อน สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งถัดไป และผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟดลง ในกรณีนี้ เราคาดว่า เงินดอลลาร์จะเผชิญแรงขายทำกำไร (Sell on Fact) กดดันให้เงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าลงต่อและอาจพอได้ลุ้นดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทดสอบระดับ 100 จุด ได้ไม่ยาก
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.60 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม FOMC และคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.75 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC.