ยกฟ้อง! ทีมล่อจับอดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ – ด้านทนายโจทก์ฯจ่อยื่นอุทธรณ์

ศาลอาญาคดีทุจริตฯยกฟ้อง “ผู้การ ปปป. – ลูกน้อง – ผอ.ชัยวัฒน์ ” พ้นผิด! ปมบุกรวบอดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ คาห้องทำงานพร้อมเงินสินบนของกลาง ศาลชี้ชุดจับกุมได้รับการร้องเรียนไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง เป็นการจับกุมซึ่งหน้า  ไม่ต้องขอหมายค้น -หมายจับ ด้านทนายโจทก์เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อ ให้ศาลรับฟ้องคดี

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 พ.ค. 2566 ที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.เลียบทางรถไฟ,  ศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาชั้นตรวจคำฟ้อง คดีที่ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง  ยื่นฟ้อง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.)  กับพวกรวม 7 คน  จำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ-ความผิดต่อเสรีภาพ  โดยในวันนี้ (30) นายวราชันย์ เชื้อบ้านเกาะ ทนายความ ผู้รับมอบอำนาจเดินทางมาศาล

โดย โจทก์ระบุฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.65  จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันวางแผนแบ่งหน้าที่กันทำให้จำเลยที่ 7 ซึ่งแอบติดกล้องบันทึกภาพและเสียงไว้ไปพบโจทก์ โดยพูดชักจูงให้โจทก์ตกลงรับเงินหรือกำหนดจำนวนเงินหรือเปอร์เซ็นต์ของเงินเพื่อเรียกรับเอาจากข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชาผู้มีตำแหน่งหรือชื่อตามที่จำเลยที่ 7 สนทนาถึงและพยายามส่งมอบซองสีขาว 3 ซอง แก่โจทก์โดยโจทก์ไม่ทราบว่าภายในซองมีเงิน 98,000บาท บรรจุอยู่ แต่โจทก์ปฏิเสธไม่รับ จำเลยที่ 7 จึงวางซองทั้ง3ซองไว้บนโต๊ะทำงานโจทก์แล้วออกจากห้องไป ทันใดนั้น จำเลยที่ 1-6ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) พร้อมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ร่วมกันบุกรุกเข้ามาภายในห้องทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นและหมายจับแล้วร่วมกันจับกุมโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147และ 157ทั้งที่โจทก์ไม่ได้มีเจตนากระทำความผิด

การที่จำเลยที่ 1-6 ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157และ 200 โดยมีจำเลยที่ 7 เป็นผู้สนับสนุน

นอกจากนี้ จำเลยที่ 1-6 ในฐานะผู้รับผิดชอบจัดให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานขณะเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ด้วยการบันทึกวีดีโอเป็นภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของโจทก์และต้องสงวนไว้เป็นข้อราชการที่เป็นความลับ ปล่อยให้มีการนำวีดีโอภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงดังกล่าวเผยแพร่โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1-6 ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 164  พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562มาตรา79

 ศาลอาญาคดีทุจริตฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุที่มีการเข้าจับกุมโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 7 เข้าร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เกี่ยวกับพฤติการณ์ทุจริตของโจทก์ที่ป.ป.ช. สืบสวนมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วเชื่อว่าคดีน่าจะมีมูล แต่ยังปราศจากหลักฐานจึงประสานมายัง บก.ปปป. เพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงและเพื่อได้มาซึ่งพยานหลักฐาน การที่จำเลยที่1-6 วางแผนตรวจค้นจับกุมโจทก์จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. ซึ่งเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของโจทก์ ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ และไม่ใช่เป็นการร่วมกันก่อหรือพยายามก็ให้โจทก์กระทำความผิด และขณะที่จำเลยที่ 7 เข้าไปพบโจทก์ที่ห้องทำงานของโจทก์จำเลยที่1-6 และเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมหน่วยงานอื่นติดต่อสื่อสารกับจำเลยที่ 7 ผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์โดยการโทรแบบกลุ่มทำให้ได้ยินการสนทนาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 7 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกรับเงิน เเละเมื่อโจทก์ได้รับเงินที่จำเลยที่ 7 นำไปมอบให้แล้ว เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้เข้าไปยังห้องทำงานของโจทก์และตรวจค้นพบซองบรรจุเงินรวม98,000 บาท ที่จำเลยที่ 7 นำไปมอบให้โจทก์อยู่ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของโจทก์ กรณีจึงเป็นความผิดซึ่งหน้าซึ่งเห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าโจทก์ได้กระทำความผิดมาแล้วสดๆ มีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ เงินที่จำเลยที่ 7นำไปมอบให้นั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน

จำเลยที่ 1-6 จึงมีอำนาจตรวจค้นจับกุมโจทก์โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับ เมื่อข้อเท็จจริงโจทก์แถลงต่อศาลในชั้นตรวจฟ้องว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ไม่เคยรู้จักและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่1-6 และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีรายชื่อในบันทึกการจับกุมท้ายฟ้อง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะชี้ให้เห็นว่าการเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ครั้งนี้ กระทำโดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ต้องรับโทษตามที่โจทก์อ้าง

การกระทำของจำเลยที่1-6  จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157และ 200 จำเลยที่ 7 จึงไม่อาจเป็นผู้สนับสนุนและผู้ร่วมกระทำผิด

ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 164 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า นอกจากจำเลยที่1-6 และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีชื่อ ยังมีบุคคลอื่นอีกหลายคนร่วมอยู่ในเหตุการณ์จับกุมโจทก์ ฝ่ายของโจทก์มีเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ซึ่งได้มีการบันทึกภาพและเสียงขณะตรวจค้นจับกุมด้วยเช่นกัน  แต่โจทก์ไม่ได้ชี้ช่องพยานหลักฐานให้เห็นว่าวีดีโอบันทึกภาพและเสียงที่ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะชนนั้นเกิดจากการ

กระทำของจำเลยที่ 1-6 กรณีจึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยที่ 1-6 กระทำความผิดตามมาตรา 164ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ เห็นว่าเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดย การจัดให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงขณะเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ด้วยการบันทึกวิดีโอพร้อมเสียงเป็นพยานหลักฐานเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการที่นำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดซึ่งมีโทษทางอาญาจึงถือเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งตามพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ฯมาตรา 4(5) มิให้นำพ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ  พิพากษายกฟ้อง

ภายหลัง นายวราชันย์ เชื้อบ้านเกาะ ทนายความ กล่าวว่า วันนี้ศาลไม่รับคำฟ้อง โดยพิพากษายกฟ้อง ในส่วนรายละเอียดอยู่ระหว่างทางทีมทนายความขอคัดถ่ายคำสั่งจากศาล เบื้องต้นศาลให้ทางตำรวจได้ชี้แจงและรับฟังว่าเป็นไปตามการทำตามอำนาจหน้าที่  ในชั้นดังกล่าวกฎหมายให้สิทธิ์ทางโจทก์คือ นายรัชฎาสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ทั้งนี้สำหรับการอุทธรณ์ไม่จำเป็นที่จะต้องยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมเป็นการยื่นอุทธรณณ์เพื่อหักล้างกัน เป็นการพิจารณาเบื้องต้นว่าศาลจะรับหรือไม่รับฟ้องเท่านั้นซึ่งทางนาย รัชฎายืนยันที่จะอุทธรณ์ต่อไปตามสิทธิ์ และไม่กังวล คดีนี้เป็นคดีที่ฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไม่ได้เป็นคดีที่จะพิสูจน์ว่าสิ่งที่เกิดการตรวจค้นจับกุมเป็นไปตามที่มีการรายงานข่าวหรือไม่ฉะนั้นประเด็นในคดีดังกล่าวกับคดีที่ศาลอาญา เป็นคนละประเด็นกัน

สำหรับ รายชื่อจำเลยทั้ง 7 ที่ถูกนายรัชฎายื่นฟ้อง ประกอบด้วย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ป่านแก้ว ผบก. ปปป. พ.ต.อ.เกรียงไกร ขวัญไตรรัตน์ ,พ.ต.ต.ธนกร จาวรุ่งวณิชสกุล,ร.ต.อ.เกียรติภูมิ ปภินวัช,ร.ต.อ.นที วุฒิภาธรณ์,ร.ต.อ.กรกฏ ศรนิกร ซึ่งเป็นตำรวจชุด ปปป. เเละนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password