กางไทม์ไลน์ “พิธา” กรุยทางสู่เก้าอี้นายกฯ นักวิชาการ จับตา “จุดสะดุด” เตือน ระวัง!
“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศออกมาแล้วกับการจับมือกับ 5 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม เพื่อจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ “พรรคก้าวไกล” ในฐานะพรรคอันดับ 1 ที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ด้วย ส.ส.ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อรวม 152 ที่นั่ง
แต่กว่าจะได้เห็นรัฐบาลใหม่ ที่ “พิธา” จะได้นั่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย เมื่อไล่เรียงไทม์ไลน์การเมืองแล้ว ตามมาตรา 85 รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้ง เมื่อตรวจสอบเบื้องต้น
แล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของเขตเลือกตั้งทั้งหมด กกต.ต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่าหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง โดยวันที่ 13 กรกฎาคม เป็นวันสุดท้ายในกรอบ 60 วัน ที่ กกต.ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง
หลังจากนั้นเมื่อประกาศรับรองผล ตามรัฐธรรมนูญปี 2561 มาตรา 121 ระบุว่า ภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการ เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก เพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 27 กรกฎาคม
ส่วนช่วงเดือนสิงหาคม จะเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และมาตรา 272 โดยการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา 376 เสียง ที่มาจาก ส.ส. 500 เสียง และ 250 ส.ว.
ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ข้อบังคับ การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2560 กำหนดไว้ในหมวด 5 การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี เริ่มจากผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ ส.ส.โหวตจะต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 คือ มาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของสมาชิกที่มีอยู่ หรือ 25 คน
การเสนอชื่อผู้ใดเข้าสู่การโหวตจะต้องมีเสียง ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของ ส.ส.ที่มีอยู่ การออกเสียงลงคะแนนพิจารณาให้ความเห็นชอบให้บุคคลดํารง ตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้กระทําเป็นการเปิดเผย เรียกชื่อสมาชิกตามลําดับอักษร ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายบุคคล
มติเห็นชอบต้องมีคะแนนเสียง 376 จาก 750 เสียง หากคะแนนเห็นชอบไม่มากกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ออกเสียงลงคะแนนชื่อคนต่อไป ทั้งนี้ หากลงคะแนนแล้วไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง จะวนโหวตต่อไปจนกว่าจะมีผู้ได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
ต้องลุ้นว่าขั้นตอนการเลือกนายกฯ คนใหม่จะเกิดขึ้นได้ในห้วงเวลากี่วัน เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้รัฐสภาเลือกนายกฯ ให้เสร็จภายในกี่วัน
เมื่อผ่านขั้นตอนนี้และสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ในเดือนสิงหาคมจะจัดตั้งรัฐบาล และทูลเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161
ส่วนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของนายกรัฐมนตรี จะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 162 กำหนดให้ทำภายใน 15 วัน นับแต่วันเข้ารับหน้าที่
ขณะที่โรดแมปของรัฐบาลก้าวไกล ตามที่ “พิธา” ว่าที่นายกฯ ระบุนโยบาย 100 วันแรกที่พรรค ก.ก.ได้ประกาศไว้ว่าจะต้องผลักดัน
หลังได้เป็นรัฐบาล อาทิ 1.ประชามติ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จัดให้มีการทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าควรมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ภายใน 100 วันแรก ของรัฐบาลก้าวไกล 2.ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในชายแดนใต้ ยุติการใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายสถานการณ์รุนแรง 3.ประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ไม่มีใครตกงาน-เสียประโยชน์ จะจัดให้มีประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่
ให้มีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และโอนถ่ายอำนาจการบริหารจังหวัดไปสู่ท้องถิ่น หากประชามติได้รับความเห็นชอบจากประชาชน จะปูทางไปสู่การเปลี่ยนสังกัดของข้าราชการส่วนภูมิภาคและฝ่ายท้องที่ นายกจังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่
4.ยกเลิกกฎระเบียบและคำสั่ง คสช. ที่ล็อกคอ-ล้วงลูกท้องถิ่น ยกเลิกคำสั่ง คสช. 8/2560 ที่เข้ามาแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของ อปท. 5.เปลี่ยนนิคมสหกรณ์เป็นโฉนดทันที เร่งเปลี่ยนที่ดินนิคมสหกรณ์ทุกแห่งทั่วประเทศ เป็นเอกสารสิทธิ หรือโฉนดให้เกษตรกรและประชาชนทันที
6.ค่าไฟแฟร์ ถูกและเป็นธรรมสำหรับประชาชน ลดค่าไฟให้กับประชาชนได้อย่างน้อย 70 สตางค์ต่อหน่วย เฉลี่ยบ้านละ 150 บาท โดยปรับนโยบายเพื่อให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนกลุ่มทุน 7.เพิ่มแต้มต่อให้ SME: หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อคนขายได้หวย ลุ้นรวยเงินล้าน โดยจะเพิ่มลูกค้าให้ SME โดยการเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนที่เลือกซื้อสินค้า SME ได้รับแถมสลากกินแบ่งของรัฐบาลไปลุ้นรางวัล
ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา แสดงความเห็น ต่อเส้นทางสู่การได้รัฐบาลใหม่จะมีอะไรที่ต้องเกี่ยวข้องและเป็นอุปสรรคระหว่างทางแค่ไหน
“ส่วนตัวผม ประเมินการเดินเกมของพรรคก้าวไกล รู้ดีว่า ส.ว.ไม่โหวตให้นั่งตำแหน่งนายกฯ ก็จะพยายามกดดัน ส.ว.ด้วยการยืนยันเสียงของประชาชน เป็นเกมที่มีชั้นเชิงมาก โดยคิดสูตร 310 เสียง การที่จะพึ่ง ส.ว.คงเป็นไปไม่ได้ แต่เป็นการยืนยันกับประชาชนว่า พวกเขาพรรคก้าวไกลทำดีที่สุดแล้ว เสียงสวรรค์ที่ประชาชนให้มา พวกเขาทำให้เกิดขึ้นแล้ว แต่ปัญหาของรัฐธรรมนูญ ที่ร่างมาจากฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นอุปสรรค นี่คือเหตุผลของความชอบธรรมของประชาชน ถูกทำลายโดยคนกลุ่มเดียว หากเกิดเหตุการณ์ที่พรรคก้าวไกลไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล พลังของประชาชนก็ยังมีศรัทธาต่อพรรคก้าวไกล”
กรณีพรรคก้าวไกลไม่เอาคะแนนเสียงของพรรคภูมิใจไทยมารวมด้วย เพราะการขอยืนหยัดในเรื่องอุดมการณ์ หวั่นถูกผลักเข้าเกมต่อรอง จะเห็นว่า นายพิธา จะเลี่ยงการพูดจาเรื่องการต่อรองตำแหน่ง หากพูดออกมาจะกลายเป็นเรื่องการเมืองเก่าทันที ยิ่งดึงพรรคภูมิใจไทยมาร่วมรัฐบาลจะทำให้ประชาชนมองว่าเป็นการเมืองแบบเก่า
กรณีปมร้องเรียนพิธาถือหุ้นสื่อไอทีวี ฝ่ายอนุรักษ์หาวิธีเล่นงาน แต่ควรต้องเล่นอย่างระมัดระวัง เพราะว่าพรรคก้าวไกลได้คะแนนมาเกินความคาดหมาย จะทำอะไรบุ่มบ่ามเหมือนตอนร้องเรียนพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ ที่สำคัญเป็นเรื่องของการตีความว่าจะมุ่งตามเจตนารมณ์ของตัวบทกฎหมาย หรือตีความตามที่จะให้ประโยชน์กับผู้ใด
“คนที่จะยุบพรรคก้าวไกลต้องประเมินสถานการณ์ให้ดี เพราะไม่เหมือนปี’62 แล้ว หวั่นว่าจะเป็นชนวนบานปลายนำไปสู่ความรุนแรงได้ และจะรุนแรงอย่างหนักยิ่งขึ้น เพราะกระแสพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง ส.ส.ในหัวเมืองสำคัญๆ ที่สำคัญชนะแบบไม่ต้องซื้อเสียงเลย หากมีการพิจารณาข้อหาแบบนี้ กระทำผิดหลายคน และเลือกปฏิบัติ คนที่ตัดสินใจยุบพรรค อาจจะหมดความชอบธรรม”