นักกม. ชี้ “ณัฐวุฒิ” ไม่เข้าลักษณะ “ผู้ช่วยหาเสียง” เข้าข่ายครอบงำ และ เงื่อนไข “ยุบพรรค”
“ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม” นักกฎหมายมหาชน ระบุ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” มีคุณสมบัติไม่เข้าข่ายเป็น “ผู้ช่วยหาเสียง” ตามการแต่งตั้งของ พรรคเพื่อไทย เข้าข่ายเงื่อนไข ถูก”ยุบพรรค”
วันที่ 11 มี.ค.2566 สืบเนื่องจากกรณี นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย (พท.) ปราศรัยบนเวทีพรรคเพื่อไทย แม้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญและร้องขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย..” หรือไม่นั้น
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” นักกฎหมายมหาชน แสดงความเห็นว่า โครงสร้างพรรคการเมือง ตาม พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ไม่ได้บัญญัติกำหนดตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ตำแหน่งดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นเพียงตั้งกลุ่มขึ้นมาทำกิจกรรมทางการเมืองโดยใช้เทคนิคเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย หากพรรคเพื่อไทยถูกยุบพรรค หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ไม่ถูกติดสิทธิ์ทางการเมือง ให้ตั้งข้อสังเกตว่า ตามริมถนนสาธารณะทั่วไป แผ่นป้ายนโยบายของพรรคเพื่อไทย เป็นรูปภาพ “อุ๊งอิ๊ง” แพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แต่กลับไม่มีภาพการนำเสนอนโยบายของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยมาเสนอต่อประชาชน จึงตั้งข้อสังเกตว่า ค่าใช้จ่ายของหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย จะนำมารวมเป็นค่าใช้จ่ายเป็นเกณฑ์ชี้แจงค่าใช้จ่ายต่อ กกต.หรือไม่
ขณะเดียวกัน ปัญหาเกี่ยวกับระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 ได้ให้คำนิยามคำว่า “ผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง” หมายถึง ผู้มีสิทธิลือกตั้งตามกฎหมาย ซึ่งบุคคลที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ถูกจำกัดสิทธิ์ใช้สิทธิเลือกตั้ง จนกว่าที่จะพ้นระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ถึงจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ2561 ดังนั้น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และ ถูกตัดสิทธิการเลือกตั้ง จึงไม่อาจเป็นผู้ช่วยหาเสียง ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 ได้
ต่อข้อถามว่า หากนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รับจ้างเป็น ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย สามารถกระทำได้หรือไม่ ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าหากเป็นสัญญาจ้างทำของ มุ่งถึงความสำเร็จของงานเป็นหลัก สามารถกระทำได้ แม้ไม่ได้มีสัญญาว่าจ้าง แต่ต้องแจ้ง กกต.ประจำจังหวัดในพื้นที่ในวันทีหาเสียงหรือปราศรัย แต่เงื่อนไขสำคัญหลัก ต้องพิจารณาถึงรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่พรรคเพื่อไทย ชี้แจงต่อ กกต.เป็นการจ้างทำของหรือไม่
นอกจากนี้ จะต้องพิจารณาถึงคำปราศรัยจ้างในการหาเสียง เป็นผู้กำกับ ควบคุมเองหรือไม่อย่างไร เท่าที่ติดตามข่าว เห็น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย จ้างหลักร้อย เล่นหลักล้าน ต้องมาถอดคำปราศรัยว่า การปราศรัยหรือหาเสียง ครอบงำพรรคหรือไม่ แม้ไม่ผิดระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 โดยอาศัยช่องจ้างทำของ แต่ติดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ใดมิใช่สมาชิกกระทำการใดควบคุม ครอบงำพรรค
“พูดภาษาชาวบ้านง่ายๆว่า ระหว่างคุณเต้น ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ กับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สถานะทางกฎหมายพรรคการเมืองไม่ต่างกัน เมื่อเป็นผู้ช่วยหาเสียงไม่ได้ ออกช่องรับจ้างทำของ แต่ติดกับดัก มาตรา 28 มาตรา 29 แห่งกฎหมายพรรคการเมือง เป็นอันตรายแก่พรรคการเมือง ซึ่งกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 28 ห้ามไว้โดยชัดแจ้งห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอม หรือ กระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคครอบงำพรรค ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ยุบพรรคตามมาตรา 92(3) ตรงนี้ ผมพูดตามหลักกฎหมาย เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” ดร.ณัฐวุฒิ กล่าว