กนอ. ขานรับ! มติครม. ตะลุยหาพื้นที่พัฒนานิคม BCG นำร่อง ลำพูน ระยอง
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รับลูก มติคณะรัฐมนตรี ตะลุยหาพื้นที่พัฒนานิคม BCG รวม 2.4 พันไร่ ระดมลงทุน 6 พันล้าน นำร่องลำพูน ระยอง ผลักดันเศรษฐกิจสีเขียว คาดไตรมาส 3 จัดหาพื้นที่เสร็จ
วันที่ 6 มี.ค. 2566 นางนิภา รุกขมธุร์ รักษาการรองผู้ว่าการ ยุทธศาสตร์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.อยู่ระหว่างจัดหาพื้นที่จัดตั้ง นิคมอุตสาหกรรมบีซีจี (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) ตามมติครม. 2 พื้นที่ในจ.ลำพูน และ จ.ระยอง รวมพื้นที่ประมาณ 2,400 ไร่ มูลค่าการลงทุนรวม 6,000 ล้านบาท คาดว่า จะจัดหาพื้นที่ได้ประมาณ ไตรมาส 3 ปีนี้ แบ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรม ในจ.ลำพูน 1,000 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 2,100 ล้านบาท เน้นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ส่วนจ.ระยอง พื้นที่ประมาณ 1,400 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท เน้นอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การบิน โลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ
“ตอนนี้กนอ.อยู่ระหว่างจัดหาพื้นที่ที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมบีซีจีใหม่ 2 แห่ง เป็นนิคมฯ ที่กนอ.จัดตั้งเอง ที่ภาคเหนือ เราจะเริ่มดูในจังหวัดลำพูนก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าไม่มีจริงๆ ถึงจะไปหาในพื้นที่อื่นในแถบระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง หากหาพื้นที่ได้แล้ว โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาจัดตั้งนิคมฯแล้วเสร็จภายใน 2 ปี หรือประมาณปี 69 เชื่อว่า จะได้รับการสนใจจากนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น ที่ชื่นชอบลำพูน เพราะอากาศใกล้เคียงกับประเทศเขา และต่อไปกนอ.จะเน้นพัฒนานิคมฯ เป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อดึงดูดการลงทุนที่เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”นางนิภา กล่าว
อย่างไรก็ตามนิคมอุตสาหกรรมของไทย มีจุดเด่น ที่สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้ เช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่มีความพร้อม ทั้งเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ไฟฟ้า การดูแลสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสีย กากอุตสาหกรรม อย่างประเทศเวียดนาม ที่ปัจจุบันมองว่า เป็นคู่แข่งสำคัญของไทย ส่วนใหญ่จะเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ขณะที่ไทย จะเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรมใหม่ๆ มากขึ้น
ส่วนการลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน มีพื้นที่ 1,788 ไร่ มูลค่าการก่อสร้างรวม 358 ล้านบาท เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 28 ปัจจุบันมีผู้ประกอบการพัฒนาพื้นที่เต็ม 100% มีนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาไทย สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลี สหรัฐ เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ฝรั่งเศส และอินเดีย มีอุตสาหกรรมดาวเด่น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันกำลังมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรม อีโค – เวิล์ด คลาส หรือมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมระดับโลก ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
นอกจากนี้นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ยังพัฒนาระบบการจัดการขยะอุตสาหกรรม ใช้วิธีการติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมอันตรายแบบเรียล ไทน์ ติดระบบอาร์เอฟไอดี แทค และระบบจีพีเอส บนรถบรรทุกขนของเสียอันตราย เพื่อนำไปยังโรงกำจัดขยะของเสียอันตราย ระหว่างเส้นทางเดินรถ ระบบจะติดตามการเคลื่อนย้ายขยะอุตสาหกรรม หรือกากอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกนอ.ตั้งเป้าให้มีการขยายผลระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมอันตรายในลักษณะดังกล่าวให้ครบใน 14 นิคมอุตสาหกรรม ภายในปี 2566.