เอสซีจีรับซมพิษวิกฤตซ้อนวิกฤตทำกำไรหด 55%
เครือเอสซีจียอมรับ! สารพัดวิกฤตที่หนักสุดในรอบ 15 ปี ทำกำไรลดลงถึง 55% พร้อมปรับตัว-เปลี่ยนกลยุทธ์ เน้นสร้าง “ความเข้มแข็งการเงิน รักษาคนเก่ง” รุกธุรกิจกรีน ลด/เลิกธุรกิจใช้พลังงานสูง ลั่นฐานเงินสดยังแกร่งเก็บในมือ 9.5 หมื่นล้านบาท คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีขึ้น หลังจีนเปิดประเทศ การท่องเที่ยวบูม สั่งเร่งเดินหน้าลงทุนต่อในโครงการปิโตรฯในเวียดนาม ระบุเตรียมเงินลงทุนปีนี้ 4-5 หมื่นล้านบาท
(อ่านข่าวฉบับเต็ม พร้อมข้อมูลหนักแน่นได้ที่… https://yutthasartonline.com/investment/36775)
วันที่ 26 ม.ค.2566 สำนักงานใหญ่ เอสซีจี นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารในเครือเอสซีจี ประกอบด้วย นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ร่วมแถลงข่าวผลประกอบการปี 2565 ที่ผ่านมาว่า นับเป็นปีแห่งภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตที่ทำให้การบริหารงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่เฉพาะกลุ่ม SCG หากทุกบริษัทต่างได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ปัญหาพลังงานมีราคาสูงขึ้น ปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ฯลฯ ซึ่งบางปัญหายังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ดี ผลจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาเข้าในประเทศ โดยเฉพาะการที่ทางการจีนเปิดประเทศและให้นักท่องเที่ยวจีนออกนอกประเทศ ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลต่อการดำเนินงานเชิงบวกของภาคธุรกิจในประเทศไทย
ในส่วนของเอสซีจีนั้น ยอมรับในปีที่ผ่านมาก็ประสบปัญหาข้างต้น โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ปิโตรเคมีขาลง ต้นทุนพลังงานสูง ความต้องการสินค้าของต่างประเทศลดลงอย่างมาก ทำให้ผลประกอบการที่แม้จะมีรายได้มากถึง 596,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 แต่ทว่ากำไรเหลือเพียง 21,382 ล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ 55 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 เหลือกำไรเพียง 157 ล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เอสซีจีพยายามรับมือกับวิกฤติและแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการใชความรวดเร็วในการทำงาน รวมถึงลดต้นทุน โดยได้ลดหรือเลิกไลน์การผลิตสินค้าในกลุ่มเซเรมิกที่ใช้พลังงานในการผลิตที่สูงมาก แล้วหันไปเพิ่มไลน์การผลิตสินค้าในกลุ่มกรีน ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดโลก ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงของฐานะทางการเงินของเอสซีจีมาโดยตลอด เห็นได้ว่า ณ สิ้นปี 2565 เอสซีจีมีเงินสดคงเหลือ 95,000 บาท ถือว่ามีความมั่นคงที่สูงมากและไว้ใจได้
“เรามองว่าปีนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะมีการฟื้นตัว เพราะได้รับอานิสงฆ์จากการท่องเที่ยว ขณะที่จีนเองก็เปิดประเทศ ทำให้ภาคการบริโภคและการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เศรษฐกิจของบ้านเราดีขึ้น”
สำหรับต้นทุนด้านพลังงาน จะเห็นว่าต้นทุนถ่านหินเริ่มมีแนวโน้มลดลงแล้ว แต่กับต้นทุนไฟฟ้า แก๊สธรรมชาติ กลับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของเอสซีจีจะต้องดำเนินการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง และทำทุกอย่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและใช้พลังงานให้คุ้มค่ามากที่สุด
นอกจากนี้ เอสซีจีได้ผลิตสินค้าในกลุ่มกรีน เช่น ธุรกิจพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน อาทิ สมาร์ดกริด โซลาร์เซลล์ ฯลฯ รวมถึงออกผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและย่อยสลายได้ง่าย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และช่วยให้เอสซีจีฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ไปได้ในที่สุด ซึ่งส่วนตัวมองว่า ครั้งนี้นับเป็นวิกฤตที่หนักมากสำหรับเอสซีจี หลังจากที่เคยได้รับผลกระทบครั้งล่าสุดจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อ 14-15 ปีก่อนหน้านี้
“แคช (การเงิน) เปรียบเหมือนเส้นเลือด คน (ทีมงานที่มีศักยภาพ) เปรียบเหมือนกล้ามเนื้อ ที่องค์กรจะต้องวางแผนดูแลเป็นอย่างดี เพื่อให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งเราไม่รู้เลยว่า วิกฤตรอบหน้าจะมาเมื่อไหร่ และรุนแรงขนาดไหน จำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมรองรับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ซึ่งจากเตรียมความพร้อมและฐานะการเงินเราวันนี้ เชื่อว่าเราจะผ่านวิกฤตที่อาจจะมีขึ้นไปได้อย่างแน่นอน” นายรุ่งโรจน์ ย้ำ
สำหรับแผนการลงทุนในปี 2566 นี้ เอสซีจีมีแผนจะลงทุนราว 4-5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปีก่อนลงทุนไปราว 5 หมื่นล้านบาท โดยในปีนี้ ครึ่งหนึ่งจะเน้นลงทุนในโครงการที่ทำค้างไว้ให้จบ โดยเฉพาะโครงการปิโตรเคมีในประเทศเวียตนาม
นอกจากนี้ การประชุมในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ประชุมได้มีมติให้เสนอจ่ายเงินปันผลประจำปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 8.0 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 9,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45 ของกำไร โดยก่อนหน้านี้ ได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับครึ่งปีแรกในอัตราหุ้นละ 6.0 บาทไปแล้ว และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 2.0 บาท โดยมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 25 เมษายน 2566 และให้รับเงินปันผลภายใน 10 ปี.