สคฝ.กางโรดแมป 5 ปี เดินหน้าภารกิจคุ้มครองเงินฝาก ครอบคลุม Virtual Bank
สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.)หรือ DPA เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นคุ้มครองเงินฝากให้ผู้ฝากและประชาชนเปิดแผนโรดแมป5ปี (2566-2570) ชู4ยุทธศาสตร์สำคัญรองรับวิสัยทัศน์การเป็นองค์กรคุ้มครองเงินฝากที่น่าเชื่อถือและทันสมัยสร้างความมั่นใจให้ผู้ฝากและประชาชน ผ่านสโลแกน “สถาบันคุ้มครองเงินฝากพร้อมคุ้มครอง เคียงข้างคุณ”
เผยมาตรการการคุ้มครองเงินฝากผ่านธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ผู้ฝากจะได้รับความคุ้มครองตามวงเงินที่กฎหมายกำหนด 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 ธนาคารและตอกย้ำกองทุนคุ้มครองเงินฝากมีความเข้มแข็งและมั่นคง พร้อมเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินของประเทศให้มีความมั่นคง
สถาบันคุ้มครองเงินฝากพร้อมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (พ.ศ. 2566 –2570) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมทางการเงินและการให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เน้นสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้ผู้ฝากและประชาชนผ่าน 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พร้อมคุ้มครองผู้ฝากอย่างมีประสิทธิภาพตามพันธกิจการคุ้มครองเงินฝากด้านการจ่ายคืนและชำระบัญชี เมื่อเกิดวิกฤตสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต กระบวนการจ่ายคืนผู้ฝากต้องสะดวกรวดเร็ว ผ่านช่องทางที่ทันสมัย ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด สถาบันฯ มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองทั้ง 32 แห่ง (รายชื่อสถาบันการเงินตามเอกสารแนบ)เพื่อทดสอบการรับส่งไฟล์ข้อมูลสถาบันการเงิน ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะเพื่อความปลอดภัยของข้อมูล พร้อมระบบประมวลผลข้อมูลและระบบปฏิบัติงานจ่ายคืนผู้ฝาก
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พร้อมสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนให้มั่นใจในระบบคุ้มครองเงินฝากและเสริมภูมิคุ้มกันด้านการเงิน โดยการสื่อสารผ่านช่องทางและวิธีที่แตกต่างให้เหมาะ สำหรับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละช่วงวัย รวมถึงการผนึกกำลังกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อขยายขอบเขตการเข้าถึง และสร้างการตระหนักรู้ให้กับผู้ฝากและประชาชน และการสร้างความร่วมมือด้านการสื่อสารกับหน่วยงานในเครือข่ายความมั่นคงทางการเงิน (FSN) ได้แก่ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย
ยุทธศาสตร์ที่ 3 พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ผ่านการเตรียมความพร้อมในด้านการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานในเครือข่ายความมั่นคงทางการเงินและมีการพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลเงินฝากเชิงลึก (Data Analytics) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการวิจัยและวิเคราะห์สถานการณ์เงินฝาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พร้อมพัฒนาศักยภาพองค์กรให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องและมีธรรมาภิบาล ทั้งด้านบุคลากรและระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต โดยเฉพาะระบบปฏิบัติงานจ่ายคืนผู้ฝากและระบบปฏิบัติการภายในต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับช่องทางการสื่อสารเพื่อให้สถาบันฯมีความพร้อมในการดำเนินงานตามพันธกิจอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสให้ข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องต่อผู้ฝากและประชาชน
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) กล่าวว่า ด้วยยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 ในช่วงต่อจากนี้ตั้งแต่ปี 2566 –2570 สถาบันคุ้มครองเงินฝากยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการจ่ายคืนและชำระบัญชี และการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนโดยเพิ่มการเสริมภูมิคุ้มกันด้านการเงินให้ประชาชนมากขึ้น นอกจากนั้นสถาบันได้ปรับทิศทางการดำเนินงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมทางการเงินและการให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ อาทิ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาหรือ Virtual Bank ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย อันเป็นผลจากการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันจะเห็นว่าหลายประเทศทั่วโลก ได้ออกหลักเกณฑ์ใบอนุญาตให้มีการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank เช่น ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, เกาหลี, สิงคโปร์, อังกฤษ เป็นต้น สำหรับ Virtual Bank ในประเทศไทยนั้น การฝากเงินของผู้ฝากจะได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากตามวงเงินคุ้มครองที่กฎหมายกำหนด จำนวน 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1สถาบันการเงิน เช่นเดียวกัน
จากรายงานข้อมูลสถิติเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2565 พบว่ามีจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 16.12 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 จำนวน 5.25 แสนล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 3.36% โดยส่วนใหญ่มาจากการพักเงินในบัญชีเงินฝากของผู้ฝากรายใหญ่และกองทุนในช่วงที่ตลาดการเงินมีความผันผวนและภาคธุรกิจที่นำเงินมาพักไว้ในบัญชีเงินฝากเพื่อสร้างสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ โดยคาดว่าในปีนี้เงินฝากจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสถาบันการเงินขณะที่จำนวนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 89.66 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 3.83 ล้านราย คิดเป็นการเติบโต 4.46% โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของผู้ฝากบุคคลธรรมดาที่มีเงินฝากน้อยกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 98.01 (87.88 ล้านราย) ของจำนวนผู้ฝากทั้งหมด ปัจจุบันกองทุนคุ้มครองเงินฝากมีจำนวนรวม 1.37 แสนล้านบาท มีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง เข้มแข็งและมั่นคง พร้อมคุ้มครองเงินฝากแก่ผู้ฝาก.