กบข.ลุยจีน! เร่งศึกษาการลงทุน Senior Housing รองรับสังคมสูงวัย – เผย! 4 แผนเพิ่มทางเลือกรับผลตอบแทนของสมาชิก

กบข.เผย! “4 ผลสำรวจความต้องการ” ของสมาชิก ตั้งเป้าหาแนวทางเพิ่มทางเลือกรับผลตอบแทน กระตุ้นให้สมาชิกออมเพิ่ม ยกระดับคุณภาพชีวิตให้สมาชิก พร้อมเร่งศึกษา Senior Housing เพื่อลงทุนสร้างผลตอบแทนที่ดีตามแนวโน้มการเติบโตสังคมสูงวัย คาดสิ้นปีนี้ สรุปแนวทางที่ชัดเจน ย้ำ! ทุกแนวทางทำเพื่อสมาชิก กบข. กว่า 1.26 ล้านคน

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข. มีความมุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิก ลดปัญหาหนี้สินและการไม่มีที่อยู่อาศัยหลังเกษียณของสมาชิก ซึ่งจาก ข้อมูลการออมเพิ่มของสมาชิก ณ สิ้นปี 2567 มีสมาชิกออมเพิ่ม 24% ของสมาชิกทั้งหมด เป็นจำนวนเงินออมเพิ่ม 29,820 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 6% ของเงินกองทุนส่วนของสมาชิก

ทั้งนี้ กบข. เป็นกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ ทำให้มีข้อจำกัดในการขอรับเงินคืนได้เมื่อออกจากราชการเท่านั้น กบข. จึงดำเนินการลดข้อจำกัดดังกล่าว เพิ่มแรงจูงใจให้สมาชิกเลือกใช้บริการออมเพิ่มมากขึ้น ด้วยการสำรวจความต้องการและความสนใจของสมาชิก ซึ่งสมาชิกให้ความสนใจ แนวทางการเพิ่มทางเลือกการรับผลตอบแทนในรูปแบบอื่น 4 แนวทาง ดังนี้…
1. การเลือกรับเงินปันผลเป็นประจำ
2. สิทธิการถอนเงินก่อนสิ้นสมาชิกภาพ
3. สิทธิการใช้เงินออมซื้อประกันชีวิตและสุขภาพ
และ 4. สิทธิการเข้าอาศัยในศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Housing)

“หลังจากนี้ กบข. จะนำแนวทางดังกล่าวไปศึกษาความเป็นไปได้ และสรุปผลนำเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาต่อไป โดยคาดว่าภายในปีนี้ จะมีแนวทางที่ชัดเจน เพื่อนำไปดำเนินการกันต่อไป” เลขาธิการ กบข. กล่าวและย้ำว่า…
นอกจากนี้ กบข. อยู่ในระหว่างศึกษาแนวทางการลงทุนโครงการที่พักอาศัยผู้สูงอายุ (Senior Housing) ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตของสังคมสูงวัยในอนาคต ซึ่งจาก สถิติในปี 2563 ตลาดที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุทั่วโลก มีมูลค่าประมาณ 1.90 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 โดย ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลางคาดว่า จะเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุด ด้วยอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 11.2% และ 8.4% ตามลำดับ นอกจากนี้ กบข. กำลังศึกษาแนวทางการให้สมาชิกที่มีความต้องการเข้าอาศัยในศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุด้วย

“จากแนวโน้มสังคมสูงวัยที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศจีน เป็นกรณีศึกษาให้ กบข. ต้องศึกษาการลงทุนในโครงการที่พักอาศัยผู้สูงอายุอย่างจริงจัง เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์ที่น่าสนใจคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดี ถือเป็นการลงทุนเช่นเดียวกับอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้มีการลงทุนประมาณ 9% ของพอร์ตการลงทุนส่วนของสมาชิก กบข.” นายทรงพล กล่าวระหว่างพา คณะสื่อมวลชน จากส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) เดินทางไปศึกษาดูงานที่ Nanjing Sindora Living เมืองนานกิง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2568 ที่ผ่านมา
สำหรับสถานการณ์ การตั้งกำแพงภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สร้างปัญหาความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองระดับโลก นั้น นายทรงพล เชื่อว่า ที่สุดสถานการณ์ก็น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ทุกฝ่ายจะต้องหันหน้าเข้าหากัน สำหรับ กบข.แล้ว สถานการณ์ข้างต้น ได้สร้างทั้งปัญหาและโอกาส ซึ่งที่ผ่านมา ได้ทำการถัวเฉลี่ยผลตอบแทนจากการลงทุน ที่บางอย่างก็มีผลกำไร และบางอย่างก็ขาดทุน แต่โดยภาพรวมแล้ว กบข.ยังคงมีผลกำไรจากการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นับแต่ต้นปีที่ผ่านมา แม้การดำเนินงานของ กบข. อาจไม่เป็นไปตามประมาณการที่จะต้องสร้างผลกำไรจากการลงทุนเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับอัตราเงินเฟ้อ +2% (หรือประมาณ 3%) อย่างไรก็ดี กบข.จำเป็นจะต้องวางกลยุทธ์ในการบริหารจัดการเพื่อให้สมาชิกได้เชื่อมั่นว่า…ทั้งปี กบข.จะต้องมีผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตราดังกล่าวอย่างแน่นอน
ส่วนความจำเป็นใน การลงทุนกับทองคำในสถานการณ์นี้ เลขาธิการ กบข. กล่าวว่า สัดส่วนที่ กบข.ลงทุนในทองคำ ณ ปัจจุบัน ที่อัตรา 6% ของการลงทุนทั้งหมด ถือว่าเหมาะสมแล้ว การจะถือมากไปกว่านี้ นั่นก็หมายความสถานการณ์ของโลก ย่อมจะอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ เช่น ปัญหาสงครามการค้า สงครามทางการทหาร ปัญหาภัยธรรมชาติที่รุนแรง ฯลฯ แต่ทุกวันนี้ สถานการณ์ไม่ได้รุนแรงถึงระดับที่ต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทองคำแต่อย่างใด

“สำหรับ กบข. เราโชคดีที่มี คณะกรรมการฯคอยกำกับดูแลในเรื่องการดำเนินงานและวางแผนการลงทุนที่ยึดโยงผลประโยชน์ของสมาชิกรวมกันกว่า 1.26 ล้านคน ภายใต้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวมกันราว 1.43 ล้านล้านบาท โดยไม่ถูกชี้นำหรือกดดันให้ต้องนำเงินไปลงทุนในโครงการหนึ่งโครงการใด ที่ไม่ก่อประโยชน์ต่อสมาชิก กบข.” เลขาธิการ กบข. กล่าวย้ำหนักแน่น
เกี่ยวกับ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก กบข. มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะไม่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มี คณะกรรมการ กบข. เป็นผู้กำหนดนโยบาย (นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการฯ ) ปัจจุบัน กบข. มีสมาชิกประมาณ 1.26 ล้านคน มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิประมาณ 1.43 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ 31 มี.ค. 2568).









