มาเลเซียเข้ม! คุมนำเข้าอาหารเข้มงวดขึ้น ตีกรอบ ‘รง.ผู้ผลิต’ ต้องมีระบบรับรองความปลอดภัยด้านอาหาร

กรมการค้าต่างประเทศ เผย! มาเลเซียประกาศปรับปรุงกฎระเบียบด้านอาหาร กำหนด 6 มาตรการเข้ม ขีดเส้นสินค้าอาหารนำเข้าต้องผลิตมาจากโรงงานที่ผ่านการรับรองระบบความปลอดภัยของ “สธ.มาเลย์” ย้ำ! ผู้นำเข้าต้องแสดงหลักฐานชัด ก่อนถูกปฏิเสธการนำเข้า ระบุ! ผู้ส่งออกไทยถือโอกาสยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร เพิ่มขีดการแข่ง สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค พ่วงเจาะตลาดอื่นๆ ในอนาคต

นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลมาเลเซียได้เพิ่มหมวด IIB (สองบี) ในกฎระเบียบด้านอาหาร (Food Regulations 1985) เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารนำเข้าให้ทัดเทียมกับอาหารที่ผลิตในประเทศ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1) โรงงานผลิตอาหารที่ส่งออกไปยังมาเลเซียต้องมีระบบรับรองความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งได้รับการรับรองจากโครงการความปลอดภัยและคุณภาพอาหาร (Food Safety and Quality Programme) กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย

2) ข้อกำหนดใหม่สอดคล้องกับ กฎระเบียบสุขอนามัยอาหารของมาเลเซีย (Food Hygiene Regulations 2009) ที่บังคับใช้กับผู้ผลิตในประเทศ

3) ระบบรับรองความปลอดภัยต้องครอบคลุมถึง การจัดการระบบความปลอดภัย (Food Safety Management: FSSM) การวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร (Hazard Analysis and Critical Control Point System: HACCP) และการปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice: GMP)

4) ผู้นำเข้าต้องยื่นเอกสารแสดงการปฏิบัติตามกฎดังกล่าว มิฉะนั้นอาจถูกปฏิเสธการนำเข้าหรือ

ถูกดำเนินการทางกฎหมาย

5) อาจมีการตรวจสอบหรือประเมินสถานประกอบอาหารในประเทศผู้ส่งออก โดยความร่วมมือกับหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศผู้ส่งออก (Competent Authority) หรือดำเนินการตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหารโดยตรง

6) กฎดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือนหลังประกาศอย่างเป็นทางการ (ยังไม่กำหนดวันบังคับใช้)

นางอารดา กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าอาหารเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของไทย โดยเฉพาะตลาดมาเลเซีย ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ตลาดส่งออกสำคัญ จากข้อมูลสถิติการส่งออก ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2565 – 2567) ไทยมีการส่งออกอาหารไปยังมาเลเซีย ปริมาณประมาณ 129,000 – 138,000 ตัน/ปี มูลค่าประมาณ 10,900 – 11,200 ล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 5.88 – 6.72 ของมูลค่าการส่งออกอาหารของไทยไปยังตลาดโลก ดังนั้น การติดตามและเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกปฏิเสธการนำเข้า

อย่างไรก็ดี ความปลอดภัยด้านอาหารเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในระดับสากล รวมถึง สามารถต่อยอดสู่ตลาดส่งออกอื่น ๆ ได้ในอนาคต ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศจะติดตามความคืบหน้าในการประกาศใช้หมวด IIB ของมาเลเซียอย่างใกล้ชิด และขอให้ผู้ประกอบการไทย ศึกษารายละเอียดของข้อกำหนดดังกล่าว และเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password