‘พาณิชย์’ นำทัพบันเทิงไทยบุกเมืองคานส์ ร่วม Cannes Film Festival มุ่งส่ง Soft Power สู่เวทีโลก ตั้งเป้าเจรจาการค้า 1 พันลบ.

กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าขับเคลื่อน Soft Power ไทยสู่สากล วางยุทธศาสตร์ ขน “ผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แอนิเมชัน และธุรกิจบันเทิงที่เกี่ยวข้อง” รวม 12 บริษัท เข้าร่วมงาน Marché du Film – Cannes Film Festival 2024 ระหว่าง13-21 พ.ค.ณ เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ตั้งเป้าสร้างมูลค่าเจรจาการค้าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ รวมถึง น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เข้าร่วมงาน Marché du Film – Cannes Film Festival 2024 ระหว่างวันที่ 13-21 พ.ค. 2568 ณ เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2568 (ตามเวลาท้องถิ่น) และกล่าวในเวลาต่อมาว่า การเข้าร่วมงานในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมศักยภาพ Soft Power ไทยสู่ตลาดโลก โดย กระทรวงพาณิชย์มอบหมาย ให้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็น หน่วยงานหลัก จัดตั้งคูหา Thailand Pavilion ขนาด 82 ตารางเมตร พร้อมกิจกรรม เจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายตลาดกับคู่ค้าทั่วโลก โดยตั้งเป้าว่าผู้ประกอบการไทย จะสามารถเปิดตลาดใหม่และสร้างมูลค่าการค้ารวมไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

ผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมงานในปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 12 บริษัท แบ่งเป็น ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์และแอนิเมชัน 8 บริษัท ได้แก่…1. บริษัท ฟิล์ม เฟรม โปรดักชั่นส์ จำกัด 2. บริษัท ปลาบลาบลา จำกัด 3. บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 4. บริษัท โมโน สตรีมมิ่ง จำกัด 5. บริษัท กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส จำกัด 6. บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด 7. บริษัท เอ็ม ดิสทริบิวชั่น จำกัด และ 8. บริษัท ไนท์ เอดจ์ พิคเจอร์ส คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ผู้ผลิตรายการและละครโทรทัศน์ 3 บริษัท ได้แก่…9. บริษัท ไอดอลแฟคทอรี่ จำกัด 10. บริษัท วากะ ครีเอทีฟ จำกัด 11. บริษัท ที่ฟ้า สตูดิโอส์ จำกัด และ บริการเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 1 บริษัท ได้แก่…12. บริษัท เดอะมั้งค์ สตูดิโอ จำกัด
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยกตัวอย่างผลงานจากการเจรจาที่สำคัญ อาทิ…
– บริษัท โมโน สตรีมมิ่ง จำกัด ได้เจรจาทางการค้ากับบริษัทจากประเทศมาเลเซีย สนใจนำภาพยนตร์ไทยไปฉายในประเทศ และมีแนวโน้มที่จะขยายคอนเทนต์ไทยในหลากหลายประเภท ทั้งในโรงภาพยนตร์และช่องทางอื่น ๆ
– บริษัท ไอดอลแฟคทอรี่ จำกัด ได้เจรจาการค้ากับบริษัทจากประเทศเวียดนาม และฮ่องกง ที่สนใจซื้อซีรีส์นำไปฉายบนเครื่องบิน และได้เจรจาการค้ากับบริษัทจากบราซิลที่ต้องการลงทุนกับบริษัท

นอกจากนี้ ภาพยนตร์แนวสยองขวัญของไทยยังเป็นที่นิยมในตลาด ซึ่งในปี 2568 ยังมีภาพยนตร์ไทยที่ได้รับเลือกเข้าประกวดใน เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ได้แก่ A Useful Ghost (ผีใช้ได้ค่ะ) ผลงานกำกับของ รัฐภูมิ บุญบัญญาโชค นำแสดงโดย ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ และ โมสต์-วิศรุต หิมรัตน์ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของวงการภาพยนตร์ไทยบนเวทีระดับโลก
นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าส่งเสริม Soft Power อย่างเป็นระบบ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างยั่งยืน
สำหรับ ผลการดำเนินงานในปี 2567 พบว่า มีการเจรจาการค้ากับผู้ซื้อและนักลงทุนต่างชาติรวม 343 ครั้ง คิดเป็นมูลค่าการค้ารวมกว่า 1,469 ล้านบาท แบ่งเป็นการค้าทันที 64.75 ล้านบาท มูลค่าคาดการณ์ใน 1 ปี 270 ล้านบาท และในระยะ 2–5 ปี อีกกว่า 1,134 ล้านบาท โดยมีคู่ค้าหลักจาก สหรัฐฯ จีน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อินเดีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ เวียดนาม และฮ่องกง.

