พาณิชย์ชี้! ราคาพลังงานลดลง นำฉุดดัชนีราคาผู้บริโภค เม.ย.68 หดตัวจากปีก่อน 0.22%

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ แจงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเมษายน 2568 ลดลงจากปีก่อน 0.22% เหตุราคาพลังงานหดตัว และมาตรการค่าครองชีพของรัฐ แถมราคาวัตถุดิบอาหารถูกลง เผย! เงินเฟ้อเทียบเพื่อนบ้านอาเซียน ไทยติดอันดับ 2 ส่วน 4 เดือนแรกปีนี้เทียบปีก่อน พบสูงขึ้น 0.75% คาดเงินเฟ้อเดือนหน้าอยู่ในระดับเดียวกับเดือนนี้

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย เดือนเมษายน 2568 เท่ากับ 100.14 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 ซึ่งเท่ากับ 100.36 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 0.22 (YoY) ในรอบ 13 เดือน โดยปัจจัยหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก และมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับ มีการลดลงของราคาผักสด และไข่ไก่ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนน้อยกว่าปีก่อน ขณะที่ ราคาสินค้าอาหารบางชนิดปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เนื้อสุกร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหาร สำหรับ ราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุด เดือนมีนาคม 2568 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้นร้อยละ 0.84 (YoY) ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 24 จาก 134 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ลดลงร้อยละ 0.22 (YoY) ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 1.45 (YoY) จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มพลังงาน (แก๊สโซฮอล์ทุกชนิด น้ำมันเบนซิน ค่ากระแสไฟฟ้า) ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แป้งทาผิวกาย) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น) และเสื้อผ้า (กางเกงขายาวบุรุษ เสื้อยืดบุรุษ เสื้อเชิ้ตบุรุษ) ขณะที่มีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาสูงขึ้น อาทิ น้ำมันดีเซล ค่าเช่าบ้าน ค่าทัศนาจรต่างประเทศ และค่าแต่งผมบุรุษและสตรี
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.63 (YoY) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ (เนื้อสุกร ปลานิล ปลาทู กุ้งขาว) กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ (ร้อน/เย็น) น้ำอัดลม) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) กะทิสำเร็จรูป) กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเหนียว ขนมอบ) กลุ่มผลไม้สด (กล้วยน้ำว้า สับปะรด แตงโม มะพร้าวอ่อน) และกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล (ขนมหวาน น้ำตาลทรายแดง) อย่างไรก็ตาม มีสินค้าหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ผักสด (มะนาว ถั่วฝักยาว แตงกวา ผักชี ผักกาดขาว พริกสด) ไข่ไก่ ส้มเขียวหวาน และไก่ย่าง

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นร้อยละ 0.98 (YoY) เร่งตัวขึ้นจากเดือนมีนาคม 2568 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.86 (YoY)
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนเมษายน 2568 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2568 ลดลงร้อยละ 0.21 (MoM) ตามการลดลงของหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 0.67 (MoM) โดยเฉพาะค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน) และค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ จากมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าตามนโยบายภาครัฐ และมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้ประชาชนเพื่อรองรับการกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สำหรับสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว โฟมล้างหน้า ค่าแต่งผมบุรุษ และน้ำยารีดผ้า ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.48 (MoM) ปรับสูงขึ้นตามราคาสินค้าสำคัญ

กลุ่มอาหารสด อาทิ เนื้อสุกร และผักสดบางชนิด (มะนาว พริกสด) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศร้อน ขณะที่ความต้องการบริโภคยังมีอย่างต่อเนื่อง และอาหารโทรสั่ง (Delivery) เนื่องจากสิ้นสุดช่วงโปรโมชัน อย่างไรก็ตาม มีสินค้าที่ราคาปรับลดลง อาทิ ผลไม้บางชนิด (มะม่วง แตงโม ฝรั่ง) ผักสดบางชนิด (แตงกวา ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง) ข้าวสารเหนียว และข้าวสารเจ้า
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ย 4 เดือน (มกราคม – เมษายน) ของปี 2568 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.75 (AoA)

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2568 คาดว่า จะอยู่ระดับใกล้เคียงกับเดือนเมษายน 2568 และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่ (1) ราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกต่ำกว่าปีก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และจะส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ภายในประเทศปรับตัวลดลงทิศทางเดียวกัน (2) ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดราคาค่ากระแสไฟฟ้างวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 ลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย (3) ฐานราคาผักสดในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะที่ในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น และ (4) การจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
สำหรับ ปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ได้แก่ (1) ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศปัจจุบันเท่ากับ 31.94 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และ (2) ราคาสินค้าเกษตรบางชนิดและเครื่องประกอบอาหารมีแนวโน้มสูงกว่าปีก่อนหน้า เช่น มะพร้าว มะขามเปียก กาแฟ เกลือป่น น้ำมันพืช และเนื้อสุกร เป็นต้น.