รัฐจ้องกู้เพิ่ม! อัดเงินเข้าระบบ 5 แสนลบ. กระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่หวั่นแม้สัดส่วนหนี้สาธารณะทะลุ 80% ต่อจีดีพี

รัฐบาล-กระทรวงการคลัง ปรับแผนสู้สงครามการค้า กำแพงภาษี “ทรัมป์ 2.0” และถูกไอเอ็มเอฟ ลดจีดีพีเหลือแค่ 1.8% ลั่น! ประกาศอัดฉีดเงิน 5 แสนล้านบาท หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ เผย! แผนหลัก มาจากการกู้เงินในระบบ พร้อมปรับแผนลงทุนในปีงบประมาณ 2569 ด้าน “ปลัดคลัง” ไม่ห่วงแม้สัดส่วนหนี้สาธารณะพุ่งทะลุ 80% ต่อจีดีพี ชี้! หากบริหารจัดการได้ดี ต่างชาติเข้าใจแน่!

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า จากปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวจากผลของบสงครามทางการค้า ที่สร้างกระทบไปหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และหน่วยงานอื่นๆ ปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2568 เหลือเพียง 1.8% จากเดิม 2.5-3.0% (เฉลี่ยค่ากลาง 2.8%) ทั้งนี้ คลังคาดหวังว่าจีดีพีในไตรมาสแรกปีนี้ น่าจะขยายตัวได้ที่ระดับร้อยละ 3 ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจโตต่อเนื่อง รัฐบาลจึงต้องเร่งแก้ปัญหาการนำเข้า-ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการปรับขึ้นภาษีนำเข้า (กำแพงภาษี) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยการเจรจากับตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมกับ การเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านหลายมาตรการ โดยเตรียมงบประมาณเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบประมาณ 5 แสนล้านบาท
รองนายกฯพิชัย ย้ำว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งศึกษาหามาตรการที่เหมาะสม โดยจะใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ผ่านการเพิ่มกำลังซื้อกระตุ้นการบริโภค ส่วนการลงทุนต้องเป็นโครงการขนาดใหญ่พอ และตอบสนองความต้องการของประชาชน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และภาคเอกชน เพื่อทำให้เกิดทางการลงทุนเพิ่ม เกิดการจ้างงานเพิ่ม ทดแทนรายได้การส่งออกที่มีปัญหาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เมื่อกำหนดแผนการลงทุนให้ชัดเจน จะทำให้ต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน เพราะไทยมีความพร้อมทั้งทำเลที่ตั้ง พื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี และพืชเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
“ในอดีต ไทยเคยประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ นับแต่วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 และปัญหาโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา แต่พวกเราก็ร่วมมือร่วมใจ ฟันฝ่ากันมาได้ กับปัญหาล่าสุด จาก นโยบาย “ทรัมป์2.0” ครั้งนี้ รัฐบาลทั่วโลกเจอเหมือนกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งทำความเข้าใจกับหลายฝ่าย โดยเชื่อว่าเราจะผ่านปัญหานี้ไปได้ คาดว่าจะสรุปมาตรการทั้งหมดในเร็วๆ เพื่อปรับแผนโอนเงิน การลงทุน ช่วยกลุ่มเป้าหมาย นำหลายด้านมาดูร่วมกัน หวังเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหมาะสม ผ่านการอัดฉีดเงินฟื้นเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาท” รองนายกฯและรมว.คลัง ย้ำ

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า คลังและสภาพัฒน์ กำลังเร่งศึกษาหามาตรการมาฟื้นเศรษฐกิจ ผ่านการฟื้นเศรษฐกิจวงเงิน 5 แสนล้านบาท สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการปรับแผนงบประมาณรายจ่ายปี 2568/2569 เพราะขณะนั้น ยังไม่มีปัญหาสงครามเศรษฐกิจ ประธานาธิบดีโดนัลพ์ ทรัมป์ จะประกาศขึ้นภาษี รวมถึง แนวทางการใช้แบงก์รัฐปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ การจัดหาแหล่งเงินนอกงบประมาณ หรือการกู้เงินในประเทศ ที่มีสภาพคล่องยังสูงอยู่ เพราะกฎหมายยังให้อำนาจกู้เงินเพิ่มเติมได้
ปลัดกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า การกู้เงินหรือใช้เงินอัดฉีดสู่ระบบครั้งนี้ สูงถึง 5 แสนล้านบาท อาจทำให้หนี้สาธารณะ ที่ปัจจุบัน อยู่ในระดับ 64%ต่อจีดีพี เพิ่มเป็น 80%ต่อจีดีพี แต่การเป็นหนี้ก็ไม่ได้น่ากลัวเสียทั้งหมด เพราะจะต้องดูว่า เราเป็นหนี้แล้วจะนำเงินที่กู้มาไปใช้ทำอะไร? และจะหาแหล่งเงินมาได้อย่างไร? มีแผนใช้คืนอย่างไร? ต่างชาติเขามองตรงนี้ การมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระดับ 60-70% ต่อจีดีพี ก็ใช่ว่าจะดี หรือหากสัดส่วนหนี้ฯจะเพิ่มเป็น 80% ต่อจีดีพี แล้วบอกว่าอันตราย ต้องเข้าใจว่ามันไม่เกี่ยวกัน เพราะหลายประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูง แต่สามารถจะบริหารจัดการได้ ความเสี่ยงก็มีก็ต่ำ ต่างชาติเขาเข้าใจและดูถึงแผนการใช้หนี้และทำเงินไปทำอะไรมากกว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีว่าจะสูงหรือไม่สูง.