‘พาณิชย์’ ชี้เป้าส่งออกปลาสวยงามขายจีน เผย ‘ปลากัด’ มาแรงได้รับความนิยมสุด

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ชี้เป้าส่งออกปลาสวยงามเจาะตลาดจีน หลังพบตลาดโตต่อเนื่องทะลุหมื่นล้านหยวน เผย! ผู้บริโภคนิยมเลี้ยงบรรเทาเครียดและเพื่อความสวยงาม ระบุ! จีนนำเข้าจากไทยอันดับ 3 โดยปลากัดมาแรงสุด ตามด้วยปลาเสือตอ และปลาทองหัวสิงห์ แนะเร่งพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ รับความต้องการตลาดแดนมังกร

น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับรายงานจาก “ทูตพาณิชย์” น.ส.อรนุช วรรณภิญโญ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงการสำรวจ “ตลาดปลาสวยงาม” ในจีน และโอกาสในการส่งออกปลาสวยงามของไทยเข้าไปจำหน่าย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากรายงานระบุว่า อุตสาหกรรมปลาสวยงามของจีน ได้พัฒนาและเติบโตจนกลายเป็นอุตสาหกรรมระดับหมื่นล้านหยวน (4.76 หมื่นล้านบาท) โดย ปลาสวยงามแบ่งออกเป็น “ปลาสวยงามน้ำจืด” และ “ปลาสวยงามน้ำทะเล” โดย “ปลาสวยงามน้ำจืด” ครองสัดส่วนตลาดสูงสุดถึง 85% และปัจจุบัน จีนมีเขตอุตสาหกรรมปลาสวยงามหลักสองแห่ง ได้แก่ พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และ ชายฝั่งทะเลตอนใต้ (มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู มณฑลซานตง) และ ภาคเหนือ (นครปักกิ่ง นครเทียนจิน มณฑลจี๋หลิน)

สำหรับความต้องการของตลาด คนหนุ่มสาวชาวจีนนิยมเลี้ยงปลาสวยงามขนาดเล็ก และจะนิยมเลี้ยงปลาสวยงามบนโต๊ะทำงาน โดย 42% ของผู้บริโภคตามที่มีการสำรวจ พบว่า เลี้ยงปลาเพื่อบรรเทาความเครียด ผู้บริโภค 16% เลี้ยงปลาสวยงามตกแต่งโต๊ะทำงาน และผู้บริโภค 15% เป็นความสนใจส่วนตัว ส่วนการนำเข้าปลาสวยงามของจีน ตามข้อมูลจาก Global Trade Atlas ระบุว่า ในปี 2567 จีนมีมูลค่าการนำเข้าปลาสวยงาม 27,839,317 เหรียญสหรัฐ นำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับสาม ของการนำเข้าปลาสวยงามทั้งหมด รองจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ตามลำดับ แต่มีโอกาสเติบโตมากกว่านี้
ปลาไทยที่ได้รับความนิยม อาทิ ปลากัด เนื่องจากมีสีสันสวยงาม ท่วงท่าการว่ายน้ำที่สง่างาม และลักษณะการต่อสู้ที่เป็นเอกลักษณ์ โดย สายพันธุ์ยอดนิยม เช่น ปลากัดจีน ปลากัดฮาฟมูน ปลากัดหางมงกุฎ ปลากัดยักษ์ และยังมีปลาเสือตอไทยที่มีลายเสือสีทองและรูปลักษณ์ที่สง่างาม ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งฐานะสำหรับผู้เล่นชั้นนำในตลาดปลาสวยงามระดับไฮเอนด์ และมีปลาทองหัวสิงห์ไทยคุณภาพสูง ซึ่งกลายมาเป็นดาวรุ่งในตลาดจีน

“จากการเติบโตของตลาดปลาสวยงามดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนาการเพาะสายพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางสายพันธุ์ปลา เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดจีน และควรศึกษาเส้นทางการขนส่งใหม่ ๆ เนื่องจากการระยะเวลาการขนส่งนาน เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกปลาสวยงามที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อการตายของปลาได้ โดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พร้อมที่จะส่งเสริมการส่งออกปลาสวยงาม โดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาดในการสร้างชื่อเสียงปลาสวยงามของไทยให้เป็นที่รู้จัก เน้นการประชาสัมพันธ์ตลาดกลุ่มผู้บริโภคระดับไฮเอนด์ โดยการออกบูธหรือการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมิเดียของจีน เพื่อกระตุ้นความต้องการต่อไป” น.ส.สุนันทา กล่าวปิดท้าย
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169.
