พาณิชย์เตรียมจัดประชุมงานข้าวนานาชาติ TRC 2025  โชว์ ‘ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมข้าวไทย’ สู่สายตาโลก 26 พ.ค. นี้

“พิชัย” ประกาศเดินหน้าจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ TRC 2025 ครั้งที่ 10 ในธีม “GLOBAL RICE FROM THAI LEGACY” สอดประสานระหว่างภูมิปัญญากับวัฒนธรรมข้าวไทย รวมถึงวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ด้านข้าวสมัยใหม่ของประเทศ คาดมี “ผู้นำเข้าข้าวระดับโลก” เข้าร่วมหลายร้อยราย สร้างมูลค่าคำสั่งซื้อไม่น้อยกว่าแสนตัน หรือกว่า 2,000 ล้านบาท ย้ำ! ไม่หวั่นแม้มีชื่อติดโผล “หลุด ครม.” ด้าน “ผู้ส่งออกข้าว” กังวลนโยบายทรัมป์ 2.0 อาจกระทบต่อภาพรวมการส่วออกข้าวไทย

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงทิศทางและนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมข้าวไทย ว่า รัฐบาลมุ่งเน้นนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อให้เกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เสริมสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของข้าวไทย พร้อมทั้ง ยกระดับภาพลักษณ์ในตลาดโลก โดยได้มอบหมายให้ กรมการค้าต่างประเทศจัดประชุม Thailand Rice Convention 2025 (TRC 2025) เพื่อเป็นเวทีเชื่อมโยงระหว่างผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และเกษตรกรไทย

“อยากเห็นความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยดีขึ้นควบคู่กับคุณภาพข้าวที่เพิ่มขึ้น หากข้าวมีคุณภาพ ผลตอบแทนต่อไร่ก็ดีขึ้น เกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลโดยท่านนายกฯ กำชับชัดเจนว่า ต้องเน้นตลาดนำ ใช้นวัตกรรมเสริม เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นกับชาวนา ผมเดินทางไปประเทศไหน ทุกคนก็พูดถึงข้าวไทย แม้ราคาจะสูงกว่า แต่คุณภาพข้าวหอมมะลิไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก เราต้องทำให้ข้าวขาวมีผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน พร้อมทั้งมองหาตลาดใหม่ๆ อยู่เสมอ” นายพิชัย กล่าวและว่า…

ที่ผ่านมา ตนได้มอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีเดินทางไปแอฟริกาใต้ พร้อมทีมงาน ซึ่งสามารถเจรจาขายข้าวไทยได้มากกว่า 400,000 ตัน เป็นการเปิดตลาดใหม่ในทวีปแอฟริกา ซึ่งมีศักยภาพและประชากรจำนวนมาก สำหรับ TRC 2025 ครั้งนี้ ตนอยากให้ทุกภาคส่วนมาร่วมคิดร่วมกันว่าจะพัฒนาข้าวไทยให้มีคุณภาพพิเศษเฉพาะ เป็นที่นิยมทั่วโลกได้อย่างไร เพื่อให้เกิดการค้าขายเพิ่มขึ้น และเกษตรกรมีรายได้มากขึ้น อีกทั้ง ยังผลักดัน แนวคิด Food Storage ให้ไทยเป็นแหล่งความมั่นคงด้านอาหารของโลก โดยมีการหารือกับหลายประเทศ อาทิ อิสราเอลและสิงคโปร์ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และสิ่งที่อยากเห็น “ข้าวพร้อมรับประทาน” (Ready-to-eat) เป็น สินค้า Thailand Next Level เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับผลกระทบจากการที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวและลดราคาค่อนข้างมาก แต่ต้องทำให้ข้าวไทยมีความแตกต่าง มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว เพื่อรักษาราคา และสร้างภาพจำให้ผู้บริโภคทั่วโลกว่า ‘Think Rice, Think Thailand’ ทั้งนี้ อยากเชิญชวนให้ทุกฝ่ายเข้าร่วม TRC 2025 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาข้าวไทยในทุกมิติ ทั้งการผลิต การตลาด และการสร้างชื่อเสียงให้ข้าวไทยเป็นที่จดจำของทั้งโลก โดยในภาพรวมการส่งออกไทยยังดี โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หากไม่เจอประเด็นทรัมป์ การส่งออกจะเป็น พระเอก ของเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน เดือนมกราคมที่ผ่านมาการส่งออกโต 13.6% กุมภาพันธ์โต 14% และมีนาคมมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง

นายพิชัย ยังได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวรอบนอก ถึงกรณีที่มี ผลโพลการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีชื่อของตนติดอยู่ในนั่น ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มว่า “อ๋อ อย่าไปคิดมาก เรื่องการเมือง”  ผู้สื่อข่าวถามต่ออีกว่า เป็นห่วงหรือไม่? นายพิชัย ตอบพร้อมเสียงหัวเราะ “ไม่ห่วง ทำดีอยู่ทุกวัน และให้รอดูว่าจะเป็นอย่างไร”

สำหรับการเดินทางไปสหรัฐฯ นั้น ตนจะเดินทางไปแน่ แต่รอการตอบรับและกำหนดจาก ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) ก่อน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ติดต่อมาตลอด เพียงรอคิวว่าจะได้เมื่อไหร่ โดย นโยบายทรัมป์ 2.0 ก็กังวลว่าจะมีผลต่อการส่งออก ในช่วงไตรมาส 2 หลังจากไตรมาสแรกส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดี โดยเดือนมกราคมขยายตัวได้ 13.6%  กุมภาพันธ์ ขยายตัวได้ 14%  ซึ่งเดือนมีนาคมกระทรวงพาณิชย์จะแถลงในวันที่ 24 เมษายนนี้ ยันยันได้ว่ายังขยายตัวได้เกิน 2 หลักแน่นอน

ด้าน นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า งาน TRC 2025 ปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 ราย จากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงผู้แทนภาครัฐ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน และเกษตรกรตัวแทนจากกลุ่มอาชีพภาคเกษตร โดยมีกิจกรรมสำคัญ อาทิ การเสวนา บรรยาย นิทรรศการประชาสัมพันธ์ข้าวไทย การตรวจสอบมาตรฐานและตรารับรองข้าวหอมมะลิไทย (ตราเขียว) การจัดแสดงพันธุ์ข้าว การชิมข้าว และการสาธิตทำอาหารจากข้าวไทย รวมถึง การนำเสนอแนวทางความยั่งยืนของอุตสาหกรรมข้าวไทยที่สอดคล้องกับธีมงาน และยังมีการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้นำเข้าและผู้ส่งออก คาดว่าจะสร้างมูลค่าคำสั่งซื้อกว่าแสนตัน หรือ 2,000 ล้านบาท พร้อมการหารือกับ Trader รายสำคัญในการขยายตลาดข้าวไทย โดยเฉพาะในแอฟริกาและตะวันออกกลาง

งาน TRC 2025 มีความแตกต่างและแปลกใหม่จากครั้งที่ผ่านมา โดยกิจกรรมทั้งหมดจะถ่ายทอดธีม ‘Global Rice from Thai Legacy’ เพื่อสะท้อนรากฐานภูมิปัญญา วัฒนธรรม และความยั่งยืนของข้าวไทย ซึ่งไม่ว่าจะเกิดวิกฤตการณ์ใด ประเทศไทยพร้อมเป็นผู้ส่งมอบความมั่นคงทางอาหารให้แก่โลก ด้วยข้าวที่ปลอดภัย คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน และเพียงพอสำหรับทุกคน” นางอารดา กล่าว

สำหรับ สถิติการส่งออกข้าวของไทยในปี 2567 มีปริมาณ 9.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 13 ถือเป็นปริมาณสูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2561 สร้างรายได้กว่า 225,656 ล้านบาท (ประมาณ 6,434 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เนื่องจากตลาดโลกมีความต้องการสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 18 เมษายน 2568 การส่งออกข้าวไทยอยู่ที่ 2.477 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 19.31 เนื่องจากอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวและสภาพอากาศเอื้อต่อการเพาะปลูกในหลายประเทศ ทำให้ผลผลิตรวมสูงขึ้น ขณะที่ประเทศผู้นำเข้ามีแนวโน้มลดปริมาณนำเข้า

ด้าน ร.ต.ท. เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การจัดงาน TRC 2025 เป็นเวทีสำคัญที่แสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า ประเทศไทยคือแหล่งส่งออกข้าวที่มั่นคง ไม่เคยจำกัดการส่งออก เป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อถือในการเสริมสร้าง Food Security ของโลก พร้อมทั้ง เป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล นำเสนอนวัตกรรมและพันธุ์ข้าวใหม่ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การค้าข้าวอาจเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุค “Trump 2.0” ซึ่งอาจส่งผลถึงต้นทุนขนส่งและโครงสร้างตลาดในอนาคต การประชุมครั้งนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือทุกความเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไม่ได้กังวลแค่ อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจกาไทยไปสหรัฐเท่านั้น แต่มีประเด็นต้นทุนด้านขนส่งไปสหรัฐ จากกรณีที่ทรัมป์ประกาศจะขึ้นภาษีสินค้าที่ขนส่งทางเรือที่เป็นเรือสร้างในจีนด้วย  ที่จะมีผลในเดือนตุลาคมนี้  และกระทบไปทั่วโลก เพราะจีนถือเป็นแหล่งต่อเรือขนส่งรายใหญ่มีสัดส่วนถึง 80%  หากมีการบังคับใช้จริงจะมีต้นทุนขนส่งที่เพิ่มขึ้นอีกตันละ 6 เหรียญ ตอนนี้ข้าวหอมมะลิไทยไปสหรัฐ เก็บ 10% ยังขายใคา 1 พันเหรียญสหรัฐ หากบวกขนส่งก็จะเป็น 1.006 พันเหรียญ หากภาษีนำเข้าเพิ่มอีก ราคาข้าวหอมมะลิไทยจะแพงมาก แข่งขันยาก ซึ่งทรัมป์2.0 การค้าและการส่งออกทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอีกมาก เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมพร้อมรับมือ ทั้งรัฐบาลและเอกชน

ด้าน นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยช่วงไตรมาสแรก 2568 มีปริมาณ 2.1 ล้านตันข้าวสาร ลดลงประมาณ 30% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากข้าวขาว 15% ลดลงถึง 53% ผลจากอินเดียกลับมาส่งออกอีกครั้ง รวมถึงประเทศนำเข้าหลักเช่น ฟิลิปปินส์ยังไม่ได้นำเข้า ซึ่งปีก่อนทั้งปีนำเข้าถึง 4 ล้านตัน คาดว่าปีนี้จะเหลือ 1 ล้านตัน

และในส่วนนี้ ไทยยังต้องแข่งขันกับอินเดียและเวียดนาม ที่มีราคาต่ำกว่าไทยด้วย โดยเฉพาะราคาข้าวอินเดียถูกกว่าไทยกว่า 40 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่งผลให้ให้หลายประเทศสนใจหันไปซื้อแทนไทย อาทิ แอฟริกาใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ทั้งที่ไทยมีปัจจัยหนุนเรื่องราคาตกกว่าปีก่อน อย่างข้าวขาวปีก่อนเฉลี่ย 600 เหรียญสหรัฐต่อตัน เหลือ 400 เหรียญสหรัฐเศษ แม้ราคาข้าวไทยจูงใจประเทศนำเข้าซื้อเพิ่มก็ตาม แต่อินเดียกับเวียดนามก็ส่งออกได้มากกว่าไทย ไทยส่งออกได้ 2.1 ล้านตัน อินเดียส่งออกแล้ว 2.4 ล้านตัน ทั้งปีนี้คาดว่าอินเดียจะส่งได้เกิน 20 ล้านตัน เวียดนามส่งออกแล้ว 2.3 ล้านตัน มีโอกาสสูงที่ปีนี้เวียดนามจะแซงขึ้นเป็นอันดับสองประเทศผู้ส่งออกข้าวโลก แทนไทยที่อาจตกไปเป็นอันดับสาม  

สำหรับทิศทางส่งออกข้าวไทยในไตรมาส2/2568 โดยรวมยังเงียบและคาดว่าตัวเลขส่งออกใกล้เคียงไตรมาสแรก อย่าไงรก็ตาม สมาคมฯยังคงเป้าหมายส่งออกข้าวทั้งปีนี้ไว้ที่ 7.5 ล้านตัน ซึ่งจะทำทวนอีกครั้งในช่วงกลางปี โดยมี ปัจจัยที่ต้องจับตาและมีผลต่อการส่งออกข้าว จากนี้ ได้แก่

1. สถานการณ์นโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐ และเงื่อนไขต่างๆ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

2. ตลาดจีน หลังราคาข้าวขาวไทยลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน เทียบราคาข้าวในจีนเฉลี่ยอยู่ที่ 500 เหรียญสหรัฐ เริ่มทำให้จีนเพิ่มนำเข้ามากขึ้น ก็จะทดแทนปริมาณข้าวที่ลดลงได้ แต่ไทยยังต้องแข่งขันด้านราคากับเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน

3. ตลาดสหรัฐฯ ตอนนี้ตื่นตัวเพิ่มนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทย เพื่อซื้อเป็นสต๊อก ตุนไว้ก่อน หลังทรัมป์เลื่อนเก็บภาษีนำเข้าจากไทยอัตราต่างตอบแทนที่ 36 % ไป 90 วัน ซึ่งตอนนี้ไทยถูกเก็บ 10% จึงเป็นสิ่งจูงใจให้ซื้อเพิ่มไว้ก่อน ซึ่งหลังสงกรานต์จะรู้ว่าสหรัฐเพิ่มสั่งซื้ออีกเท่าไหร่ เพราะต้องใช้เวลาเดินทางไปถึงสหรัฐภายใน 1 เดือน

จากที่พูดคุยผู้ส่งออกไปสหรัฐ บอกได้ว่าผู้นำเข้าตอบถามราคามาตลอด 1-2 สัปดาห์นี้จะชัดเจนว่าสหรัฐนำเข้าเพิ่มอีกเท่าไหร่ ซึ่งปีหนึ่งสหรัฐนำเข้าข้าวหอมจากทั่วโลก 1.3 ล้านตัน ในจำนวนนี้นำเข้าจากไทย 6.3 แสนตัน  ซึ่ง3 เดือนแรกส่งออกไปแล้วกว่า 2 แสนตัน ในราคาเฉลี่ย 1 พันเหรียญสหรัฐต่อตัน  รวมข้าวชนิดอื่นสหรัฐจะนำเข้าจากไทย 8.3 แสนตัน ที่เรากังวลคือหากสหรัฐปรับภาษีนำเข้าข้าวไทยเป็น 20-25 % หรือ 36 % ราคาข้าวหอมจะพุ่งถึง 1.2-1.3 พันเหรียญสหรัฐต่อตัน แข่งขันก็จะยากขึ้นนายชูเกียรติ กล่าวสรุป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password