DSI คุมตัว ‘นายจาง’ กก. ‘ไชน่า เรลเวย์ฯ’ ฝากขังศาลอาญา

ดีเอสไอ คุมตัว “ชวนหลิง จาง” ผู้ต้องหาคดีนอมินี บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ ฝากขังศาลอาญา พิจารณาเรื่องการประกันตัว ด้านเจ้าตัวยอมรับรู้จักกรรมการที่เป็นคนไทยทั้ง 3 คน

วันนี้ (21 เม.ย.) ช่วงเช้าที่ผ่านมา ณ ห้องสำนักงานรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชั้น 8 ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ อาคารบี กรุงเทพฯ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และในฐานะ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 32/2568 พร้อมพนักงานสอบสวน ควบคุมตัวนายชวนหลิง จาง กรรมการบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (นอมินี) ไปขอศาลอาญารัชดาภิเษกฝากขังผัดแรก
โดยมีรายงานว่า “นายชวนหลิง จาง” จะยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นศาลเเทน เพราะในชั้นสอบสวน เจ้าตัวไม่ได้ยื่นขอประกันตัวแต่อย่างใด เนื่องด้วยคดีนี้เป็นคดีที่มีความเสียหายเป็นวงกว้าง และนายจางเป็นบุคคลต่างชาติ เป็นเรื่องที่ศาลอนุมัติออกหมายจับ ทั้งนี้ สื่อมวลชนได้พยายามสอบถามการเข้ามาถือหุ้น บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ ของนายชวนหลิง จาง ระหว่างเจ้าหน้าที่ดีเอสไอควบคุมตัว แต่เจ้าตัวกลับไม่ตอบคำถามใดๆ
ด้าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะ รองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และโฆษกดีเอสไอ กล่าวว่า จากการสอบปากคำ ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ โดยยืนยันว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจของจีนที่ถูกส่งมาลงทุนในไทยในนามรัฐบาลจีน โดยถือหุ้นในบริษัทฯ สัดส่วน 49% สำหรับคนไทยที่ถือหุ้นบริษัท (นายประจวบ ศิริเขตร , นายมานัส ศรีอนันท์ และ นายโสภณ มีชัย) ตนเองไม่ทราบรายละเอียด แต่ยอมรับว่ารู้จัก 3 คนไทยนอมินี และให้ข้อมูลเฉพาะในส่วนฝั่งประเทศจีนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จากการสอบปากคำพบว่ามีจุดเชื่อมต่อที่จะต้องเร่งไปขยายผลพอสมควร

ส่วนเงินทุนจำนวน 2,000 ล้านบาท ที่มีการกู้ยืมจากกรรมการ บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ นั้น โดยจากการสอบสวนทราบว่า เป็นของคนไทย ที่มีการกู้ยืมเงินเพื่อใช้ทำธุรกิจ ดีเอสไอต้องไปขยายผลว่าแหล่งเงินจริงมาจากไหน เป็นของใคร เพราะดีเอสไอมีการตรวจสอบสถานะของคนไทยทั้ง 3 ราย ที่เป็นกรรมการในบริษัทฯ พบว่าทั้งหมดไม่ได้มีสถานะเพียงพอที่จะไปดำเนินธุรกิจ หรือมีวิชาชีพหรือมีความเชี่ยวชาญ จึงต้องเร่งหาที่มาของเงินจำนวนดังกล่าวและต้องตรวจสอบเส้นทางการเงิน นอกจากนี้ ยังพบเบาะแสเชื่อว่าทั้ง 3 ราย ยังอยู่ในประเทศไทย และอยู่ระหว่างเร่งติดตามตัว เพราะที่ผ่านมาพวกเขายังออกมาแสดงตัวให้ข้อมูล
“สำหรับ 3 คนไทยที่เป็นกรรมการฯ บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ หากทั้งมีผู้ให้ที่พักพิงหลบซ่อน จะมีความผิดหรือไม่นั้น ต้องบอกก่อนออกหมายจับหน้านี้ก็ยังคงไม่มีความผิด แต่หลังจากที่มีการออกหมายจับก็คงจะมีความผิดในการช่วยเหลือผู้ต้องหา ส่วนจะมีการออกหมายจับบุคคลใดเพิ่มเติมหรือไม่ ดีเอสไออยู่ระหว่างขยายผล เพราะจากการสอบปากคำนายจาง ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะต้องไปค้นเพิ่มเติม ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเรียกบุคคลมาสอบปากคำเพิ่มเติม ทราบว่า อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องวิศวกรรม และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง“ พ.ต.ต.วรณัน กล่าว

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวต่ออีกว่า ส่วนการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ 24 ตู้ที่ดีเอสไออายัดไว้ตรวจสอบภายในไซต์งานก่อสร้างตึก สตง.(แห่งใหม่) ขณะนี้เร่งดำเนินการจัดทำแผนผังองค์กร เพราะเวลาที่เราจะตรวจสอบเอกสาร ต้องมีคนที่ทำหน้าที่หลักในการตรวจเอกสาร และในวันที่ 30 เม.ย. หน่วยงานแรก คือ กิจการร่วมค้าที่เป็นผู้ก่อสร้าง จะส่งแผนผังองค์กรเข้ามาให้กับดีเอสไอ และจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง เข้ามาช่วย เนื่องจากมีความรู้ในเรื่องของเอกสารพวกนี้ และหลังจากนั้นก็จะมีการดำเนินการต่อไป
ส่วนกรณี นายบินลิง วู จะอยู่เบื้องหลังหรือไม่นั้น พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า เรื่องนี้ยังคงอยู่ในสำนวน และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ขอให้เจ้าหน้าที่ได้ทำการสืบสวนสอบสวนก่อน ส่วน “นายตง เซี่ย” ซึ่งมีรายงานว่าเป็นกรรมการคนแรกของ บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ จะมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ดีเอสไออยู่ระหว่างขยายผลตรวจสอบเช่นเดียวกัน.
