คต.รับคืน ‘กฎคุมเข้ม’ 49 สินค้าเฝ้าระวังส่งออกสหรัฐฯ – ชี้! 9 กลุ่มเสี่ยงทะลักเข้าสวมต่อถิ่นกำเนิดไทย

ภาคเอกชน “ส่งคืนอำนาจ” ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เฉพาะ 49 รายการส่งออกสหรัฐฯ ให้กระทรวงพาณิชย์ ใช้บริหารความเสี่ยง เพิ่มประสิทธิภาพป้องกันแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย ด้าน “อธิบดี คต.” เผย! ยังมี 9 กลุ่มสินค้าเสี่ยง จ่อทะลักเข้าไทย หวัง “สวมตอ” อ้างถิ่นกำเนิดสินค้า จับตา! เหล็ก ลวดทองแดง และอลูมิเนียม

นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากสหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้แบบต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) สำหรับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย โดยประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่ สหรัฐฯ ให้ความสำคัญและมีข้อห่วงกังวลว่าจะมีการสวมสิทธิและการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ศุลกากรสหรัฐฯ และลดผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคการค้าของไทย จึงได้พิจารณาปรับปรุงแนวทางการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form C/O ทั่วไป สำหรับรายการสินค้าเฝ้าระวังการส่งออกไปสหรัฐฯ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ศุลกากรสหรัฐฯ คต. ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form C/O ทั่วไปของไทย โดยทั้งสามหน่วยงานได้มีความเห็นร่วมกันที่จะให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานเดียวที่สามารถออกหนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไป สำหรับรายการสินค้าเฝ้าระวังในการส่งออกไปสหรัฐฯ 49 รายการ โดยจะนำแนวทางดังกล่าวเสนอต่อคณะทำงานต่อไป

นอกจากนี้ คต. มีแผนเชิงรุกในการปรับปรุงรายการสินค้าเฝ้าระวังฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าจากเดิม 49 รายการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงในการแอบอ้างถิ่นกำเนิดอีก 9 กลุ่มสินค้า ซึ่งคาดว่าจะมีการทะลักเข้าไทย และมีแนวโน้มการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า เช่น เหล็ก ลวดทองแดง และอลูมิเนียม เป็นต้น เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง และเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย
“แผนการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับศุลกากรสหรัฐฯ และเป็นกลไกในการป้องกันปัญหาการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้สหรัฐฯ ขยายมาตรการทางการค้ามายังอุตสาหกรรมของไทย” นางอารดา กล่าวทิ้งท้าย.