ส.การค้ายาสูบไทย ชง 2 มาตรการเด็ดสกัดพัสดุเถื่อน – บุหรี่เถื่อนออนไลน์

สมาคมการค้ายาสูบไทย ชี้บุหรี่เถื่อนใน กทม และปริมณฑลพุ่งสูงเพราะสั่งออนไลน์ส่งพัสดุถึงบ้าน ปลื้มกรมสรรพสามิตสกัดบุหรี่เถื่อนออนไลน์ วอนรัฐเร่งปิดกั้นช่องทางออนไลน์และกำชับบริษัทขนส่งพัสดุทำงานเชิงรุก แบล็คลิสต์ผู้ส่งสุ่มตรวจจุดคัดแยกพัสดุก่อนกระจายเข้าหัวเมืองใหญ่

จากกรณีกรมสรรพสามิตลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 2 บริษัทขนส่งเพื่อการตรวจสอบ ยึดและอายัดสินค้าผิดกฎหมาย ตัดวงจรสินค้าเถื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุหรี่และสุรา ซึ่งพบเป็นสินค้าที่ถูกนำส่งผ่านพัสดุที่มีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีสรรพสามิตบ่อยที่สุด
นางสาวธัญญศรัณ แสงทอง ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวว่า “บุหรี่เป็นสินค้าควบคุม ห้ามขายออนไลน์ แต่พบบุหรี่หนีภาษีและบุหรี่ปลอมขายจำนวนมากบนสื่อโซเชียล เช่น X (Twitter), Facebook และเว็บไซต์ ในช่วง ก.ค. – ธ.ค. 2566 พบการสนทนาเกี่ยวกับบุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้น 181% ทำให้เยาวชนเข้าถึงง่ายขึ้น เป็นการละเมิดพ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ที่ห้ามขายและโฆษณาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง นอกจากนี้ตามบทกฎหมายแล้วการซื้อขายบุหรี่เถื่อนมีความผิด หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วย แล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ”
“สมาคมฯ ได้รับทราบข้อมูลจากกรมสรรพสามิตว่าการตรวจค้นศูนย์ไปรษณีย์วังน้อย ศรีราชา และหลักสี่ ที่เป็นศูนย์คัดแยกพัสดุก่อนที่จะส่งเข้าสู่กรุงเทพฯ พบบุหรี่เถื่อนที่ถูกบรรจุกล่องส่งมายังปลายทางให้ลูกค้าระบุชื่อผู้รับในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล โดยต้นทางของกล่องพัสดุเหล่านั้นมาจากจังหวัดทางภาคใต้ เช่น สตูล สงขลา พัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความชุกของบุหรี่เถื่อนสูงที่สุดในประเทศ โดยสั่งผ่านช่องทางออนไลน์”
ทั้งนี้ข้อมูลการสำรวจซองบุหรี่เปล่าไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ระบุว่ากรุงเทพและปริมณฑลเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตของบุหรี่เถื่อนสูง โดยมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 30 ซึ่งสมาคมฯ เคยหารือกับผู้ให้บริการขนส่งพัสดุชั้นนำเกี่ยวกับแนวทางป้องกันการลักลอบส่งสินค้าผิดกฎหมายมาก่อนหน้านี้ และเห็นว่าภาครัฐและเอกชนควรเพิ่มการทำงานเชิงรุก 2 แนวทาง ได้แก่
1. ปิดกั้นช่องทางออนไลน์ โดยดำเนินการอย่างจริงจังเช่นเดียวกับกรณีของบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งต้องการความร่วมมือของกระทรวงดิจิทัลฯ และหน่วยงานที่ดูแลและบังคับใช้กฎหมายห้ามการซื้อขาย โฆษณา บุหรี่ทางช่องทางออนไลน์
2. ตัดเส้นทางการขนส่ง – เมื่อพบพัสดุต้องสงสัยและตรวจสอบแล้วว่ามีสินค้าผิดกฎหมายภายในบริษัทควรทำการแบล็คลิสต์ผู้ส่ง และรวบรวมข้อมูลผู้กระทำผิดส่งให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพื่อสืบสวนหาต้นตอเครือข่าย โดยบริษัทขนส่งพัสดุควรสุ่มตรวจพัสดุต้องสงสัย ณ ศูนย์คัดแยก ก่อนพัสดุจะถูกกระจายไปยังผู้รับในจังหวัดปลายทาง โดยเริ่มจากศูนย์คัดแยกที่พบมากที่สุดในละแวกภาคกลาง ก่อนเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่นที่ ชลบุรี (ศรีราชา) ปราจีนบุรี นครราชสีมา และจันทบุรี รวมทั้งภาคใต้เช่นที่ สงขลา (หาดใหญ่) สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เป็นต้น
“สมาคมฯ ขอขอบคุณกรมสรรพสามิตและภาคเอกชนขนส่งที่ได้เล็งเห็นความสำคัญและร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการตรวจสอบ ยึด และอายัดสินค้า เพื่อเป็นการยกระดับการป้องกัน ปราบปรามลักลอบนำส่งสินค้าผ่านพัสดุที่มีในครั้งนี้ สมาคมฯ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะช่วยให้การป้องกันการจำหน่ายบุหรี่ผิดกฎหมายผ่านช่องทางออนไลน์ที่เคยไร้การควบคุมมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อตัดช่องทางการจำหน่ายและลำเลียงสินค้า สอดคล้องกับนโยบาย นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเน้นย้ำถึงนโยบาย “Zero Tolerance” ในการปราบปรามบุหรี่เถื่อนต่อไป”.