‘พาณิชย์’ ชี้! เงินเฟ้อ มี.ค.แตะที่ 1.08% คาดไตรมาส 2 หดตัวจากไตรมาสแรก เหตุภาครัฐงัด ‘ม.ลดค่าครองชีพ’ ช่วยคนไทย

“โฆษกกระทรวงพาณิชย์” เผย! ดัชนีราคาผู้บริโภค ประจำ มี.ค. 2568 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.84% เหตุเพราะราคาสินค้ากลุ่มนอนแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูป ปรับสูงขึ้น ดันเงินเฟ้อทั่วไปแตะระดับ 1.08% คาดไตรมาส 2 เงินเฟ้อทั่วไปอาจปรับลดจากไตรมาสแรก หลังภาครัฐผุดมาตรการลดค่าครองชีพ แถมฐานราคาผักสดและไข่ไก่ปีนี้ต่ำกว่าปีก่อน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ในฐานะ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ แถลงถึง ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย มี.ค.2568 ว่า มีค่าเท่ากับ 100.35 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 99.51 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.84 (YoY) โดยปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์ และอาหารสำเร็จรูป ประกอบกับมีการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล และค่าเช่าบ้าน เป็นสำคัญ สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุด ก.พ. 2568 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้นร้อยละ 1.08 (YoY) ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 22 จาก 130 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8  ประเทศที่ประกาศตัวเลข (อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว)

โดย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นร้อยละ 0.84 (YoY) ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.35 (YoY) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น)) กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ (เนื้อสุกร ปลานิล ปลาทู กุ้งขาว) กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว) กลุ่มผลไม้สด (ทุเรียน ฝรั่ง สับปะรด มะพร้าวอ่อน) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำพริกแกง) กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ) และกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล (ขนมหวาน น้ำตาลทราย) อย่างไรก็ตาม มีสินค้าหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ผักสดบางชนิด (มะนาว พริกสด ผักกาดขาว ขิง ผักชี ต้นหอม มะเขือ ขึ้นฉ่าย) ไข่ไก่ ไก่ย่าง ผลไม้บางชนิด (องุ่น มะละกอสุก) และอาหารโทรสั่ง (Delivery)

หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.18 (YoY) จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะ แก๊สโซฮอล์ ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว สบู่ถูตัว แป้งผัดหน้า) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น น้ำยารีดผ้า) เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ และเสื้อผ้า (กางเกงขายาวบุรุษ เสื้อยืดบุรุษและสตรี) ขณะที่มีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาสูงขึ้น อาทิ น้ำมันดีเซล ค่าเช่าบ้าน และค่าแต่งผมบุรุษและสตรี 

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นร้อยละ 0.86 (YoY) ชะลอตัวลงจาก ก.พ.2568 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.99 (YoY)

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป มี.ค. 2568 เมื่อเทียบกับ ก.พ. 2568 ลดลงร้อยละ 0.20 (MoM) ตามการลดลงของหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 0.44 (MoM) โดยเฉพาะ น้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน) ตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกที่ลดลง และค่ากระแสไฟฟ้า จากมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้ประชาชนตามนโยบายรัฐบาล นอกจากนี้ ค่าของใช้ส่วนบุคคล (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว โฟมล้างหน้า ยาสีฟัน) และสิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยารีดผ้า) ราคาปรับลดลงจากกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการ สำหรับสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น อาทิ ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารเครื่องบิน และกางเกงขายาวสตรี

ขณะที่ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.19 (MoM) ปรับสูงขึ้นตามราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะ เนื้อสุกร และผักสด (ผักคะน้า มะนาว มะเขือ ผักกวางตุ้ง ผักชี) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาวะอากาศร้อน ขณะที่ ความต้องการบริโภคยังมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคากาแฟผงสำเร็จรูป และน้ำมันพืช มีการปรับสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีสินค้าที่ราคาปรับลดลง อาทิ อาหารโทรสั่ง (Delivery) ไข่ไก่ ผักสดบางชนิด (ชะอม แตงกวา พริกสด) และ ผลไม้บางชนิด (มะม่วง ฝรั่ง แตงโม)

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ยไตรมาสแรกของปี 2568 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 1.08 (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ลดลงร้อยละ 0.14 (QoQ)

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2568 โดยมีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่ (1) ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง (2) ฐานราคาผักสดและไข่ไก่ในปีก่อนหน้าอยู่ในระดับสูง ขณะที่ในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยมากกว่าปี 2567 ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้น (3) การลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลก โดยราคาในปีนี้ต่ำกว่าปีก่อนหน้า จึงส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ภายในประเทศปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน และ (4) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี มีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ได้แก่ (1) วัตถุดิบต้นน้ำของสินค้าเกษตรบางชนิดราคายังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะ พืชสวน เช่น มะพร้าว กาแฟ และปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น ทั้งกะทิ กาแฟ และน้ำมันพืช และ (2) อาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะ อาหารพร้อมทาน ราคายังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีการปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบบางชนิดที่สูงขึ้น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password