‘ผู้ค้าข้าวไทย’ รับ! หาก ‘ทรัมป์’ ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรเป็น 20% ชี้! กระทบข้าวไทยแน่

“สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย” ประเมินผล ปม “ปธน.ทรัมป์” ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทยหลายรายการ วันพรุ่งนี้ (เช้า 3 เม.ย.ในไทย) ชี้! กระทบสินค้าเกษตรแน่ โดยเฉพาะข้าวไทย ห่วงหากโดนบวกภาษีเพิ่มเป็น 20% ทำราคาข้าวไทยปรับสูง ย้ำ! หากเก็บภาษีเท่าคู่แข่ง ข้าวไทยยังไปได้ต่อ เชื่อ! ต่างชาติต้องการข้าวไทย แนะทุกฝ่ายร่วมมือหาตลาดใหม่ พ่วงรักษาตลาดเก่า และคงมาตรฐานข้าวไทยไว้

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ถึงขณะนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ติดตามแนวนโยบายการเปลี่ยนแปลงการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่คาดว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงขึ้นจากเดิม เพื่อลดการขาดดุลการค้าของแต่ละประเทศลง ซึ่งในส่วนของไทย หากสหรัฐปรับเพิ่มภาษี โดยเฉพาะสินค้าภาคการเกษตรเป็นร้อยละ 15-20 ย่อมส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาร จะมีราคาสูงขึ้นในตลาดสหรัฐแน่นอน โดยเฉพาะราคาส่งออกข้าวไทยที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 200 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากปัจจุบัน ข้าวหอมมะลิไทยอยู่ที่ 900 เหรียญสหรัฐต่อตัน ก็จะเพิ่มเป็น 1,100 เหรียญสหรัฐต่อตัน และจะเป็นราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งทั้งหมด โดยจะห่างเวียดนามถึง 200-300 เหรียญสหรัฐต่อตันทันที

ผลกระทบตามมาคือจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และกระทบภาพรวมเป้าหมายส่งออกข้าวทั้งปี 2568 ที่คาดไว้ 7.5 ล้านตัน แต่จะกระทบมากน้อยแค่ไหน คงต้องประเมินกันอีกครั้ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่เพดานอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐเป็นสำคัญว่าจะเก็บอัตราภาษีกับสินค้าไทยในอัตราใดกันแน่ และคงต้องดูว่าประเทศคู่แข่งถูกเรียกเก็บอัตราภาษีเท่ากับของไทยด้วยหรือไม่ หากเท่ากัน ก็เชื่อว่าไทยน่าจะแข่งขันได้อยู่ แต่หากต่ำกว่าไทยถือว่าเหนื่อยพอสมควรต่อการแข่งขันข้าวไทยในตลาดสหรัฐ

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่า ปีนี้สินค้าไทยรวมถึงสินค้าข้าวไทยเจออุปสรรคหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ผลผลิตข้าวทั่วโลกสูง กำลังซื้อไม่ได้เพิ่มตาม สต๊อกข้าวแต่ละประเทศสูงเพียงพอหลังเร่งนำเข้าช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา หลังมีข่าวสหรัฐเตรียมเพิ่มภาษีนำเข้า โดยเฉพาะประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ จากกระแสข่าวว่าจะปรับภาษีสินค้าเกษตรขึ้นร้อยละ 20 ถือเป็นแรงกดดันต่อการส่งออกตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป และที่กังวลมากสุด คือ กรณีที่หลายประเทศเคยบริโภคข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไทย เมื่อต้องปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนนำเข้า บางส่วนจะหันไปบริโภคข้าวหอมประเทศอื่น ที่มีราคาถูกกว่าไทย เมื่อลองชิม จนเกิดความเคยชิน การจะกลับมาบริโภคข้าวไทย หลังราคาอ่อนตัวลง ก็ยากขึ้น

ตอนนี้ไทยเหลือประเทศที่บริโภคข้าวไทยไม่มากนัก ประเทศที่ยังเป็นตลาดข้าวไทย ได้แก่ สหรัฐและญี่ปุ่น ส่วนแอฟริกาใต้ ยังเป็นการนำเข้าข้าวนึ่งไทยมากสุด ดังนั้น แม้จะเจอปัญหาเหล่านี้ จากการหารือกับประเทศผู้บริโภคข้าวไทยในตลาดอื่นๆ เช่น ในตะวันออกกลาง แอฟริกา และอีกหลายประเทศ เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน เพื่อรักษาตลาดเก่าและมองหาตลาดใหม่ๆ แต่สิ่งสำคัญข้าวไทยต้องรักษาคุณภาพข้าว ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพื่อให้ข้าวไทยมีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้นนายชูเกียรติ ระบุ

อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขการส่งออกข้าวโลกช่วง 3 เดือนแรก 2568 พบว่า มียอดลดลงร้อยละ 30 หรือมีปริมาณรวมเพียง 1.9 ล้านตัน ดังนั้น ครึ่งปีแรก 2568 ปริมาณส่งออกข้าวอยู่ที่ 3.5-4.0 ล้านตัน และคงต้ิงติดตามในครึ่งปีหลังทั้งเรื่องภาษีนำเข้าสหรัฐ และการพลิกตัวของประเทศส่งออกสำคัญ ทั้งอินเดีย เวียดนาม ปากีสถาน ยังเป็นปัจจัยหลักที่ต้องติดตามและมีผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกข้าวไทยทั้งสิ้น

ด้าน นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงการเดินทางเยือนแอฟริกาใต้ครั้งนี้ในรอบ 10 ปี ที่มีการจัดคณะผู้บริหารระดับสูงไปพบปะผู้นำเข้า จะช่วยให้สถานการณ์การค้าข้าวระหว่างไทยและแอฟริกาใต้ในปี 2568 เป็นไปด้วยดี และเพิ่มคำสั่งซื้อข้าวไทยจากแอฟริกาใต้อย่างต่อเนื่อง รวมถึง 9 แสนตัน จากทั้งหมดนำเข้า 1.2 ล้านตัน และจะส่งผลต่อปริมาณการส่งออกข้าวไทยในภาพรวม เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ที่ปริมาณ 7.5 ล้านตัน ซึ่งกรมมีแผนจะไปพบปะผู้นำเข้าอีกในหลายประเทศ รวมถึงเจรจาจีทูจีกับสัญญาที่คงค้างไว้.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password