DITP แนะกลยุทธ์เจาะตลาดผลไม้ไทยในซีอาน เผย! ผู้บริโภคชอบทุเรียน – ลำไย/มังคุดตามมาติด ๆ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผย! ผลสำรวจตลาดผลไม้ไทยในนครซีอาน ชี้! นิยมกินทุเรียน ออเดอร์สูงกว่า 1 หมื่นตัน/ปี ส่วนลำไยและมังคุดเริ่มนำเข้ามาขายแล้ว ย้ำ! การขนส่งมีทางเรือ บกและอากาศ แนะผู้ส่งออกงัดกลยุทธ์การตลาดแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายตามระดับรายได้ของผู้บริโภค รวมถึงร่วมมือผู้นำเข้า/ผู้ผลิต แปรรูปเป็นน้ำผลไม้

น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯได้รับรายงานจาก นางกุลธิดา บัณฑุรัตน์ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ณ นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงการสำรวจ ตลาดผลไม้ไทย และช่องทางในการขยายตลาดผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดซีอาน ซึ่งถือเป็นอีกเมืองหนึ่งของจีนที่มีศักยภาพรองรับผลไม้ของไทย โดย ทูตพาณิชย์ ได้รายงานข้อมูลว่า จากการสำรวจตลาดพบว่า ผลไม้ไทยได้รับการยอมรับและความนิยมจากผู้บริโภคชาวนครซีอานเป็นอย่างมาก มีส่วนแบ่งทางการตลาดนครซีอานค่อนข้างสูง โดยเฉพาะทุเรียนไทย มียอดขายนำหน้าผลไม้นำเข้าชนิดอื่น ๆ โดยปริมาณการค้าส่งทุเรียนไทยมากกว่า 10,000 ตันต่อปี สำหรับสายพันธุ์ทุเรียนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในนครซีอาน คือ ทุเรียนหมอนทอง รองมา คือ ทุเรียนก้านยาว ส่วน ลำไยและมังคุด ก็เริ่มมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย

สำหรับช่วงที่ผลไม้ของไทยขายดีที่สุด คือ เทศกาลต่าง ๆ ของจีน เช่น เทศกาลวันตรุษจีน เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นต้น เนื่องจากเป็นผลไม้ยอดนิยมสำหรับมอบเป็นของขวัญ และยังมีการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ ผู้บริโภคชาวนครซีอานมักจะเลือกซื้อผลไม้ไทยผ่านตลาดค้าส่งผลไม้ Yurun ซูเปอร์มาร์เก็ต และช่องทางออนไลน์ โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลในการเลือกซื้อ ได้แก่ ราคา คุณภาพ ความสด

ทั้งนี้ ตลาดค้าส่งผลไม้ Yurun ตั้งอยู่ใน Xi’an Yurun Agricultural Products Global Purchase Center เขตเว่ยยาง นครซีอาน มีพื้นที่ 333.34 ไร่ เป็นแหล่งรวบรวมและกระจายผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และเป็น 1 ใน 10 ของตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของจีน มีผลไม้ที่จำหน่ายในตลาดมากกว่า 500 ชนิด ปริมาณการซื้อขายผลไม้มากกว่า 1 ล้านตันต่อปี หรือ 8,000–10,000 ตันต่อวัน และ ตั้งแต่ปี 2562 ได้จัดตั้งพื้นที่จำหน่ายผลไม้นำเข้าโดยเฉพาะ มีร้านค้าผลไม้ประมาณ 100 แห่ง และปริมาณการซื้อขายผลไม้นำเข้ามากกว่า 100,000 ตันต่อปี สิ่งที่น่าสนใจคือ ในปี 2567 ปริมาณการจำหน่ายผลไม้นำเข้าในตลาดดังกล่าวประมาณ 145,200 ตัน แยกเป็นแก้วมังกร 77,600 ตัน ทุเรียน 32,600 ตัน ลำไย 14,000 ตัน ขนุน 12,000 ตัน และมังคุด 9,000 ตัน โดยกว่าร้อยละ 80 ของผลไม้ที่มีบริโภคในนครซีอาน และกว่าร้อยละ 75 ของผลไม้ที่มีบริโภคในมณฑลส่านซี ล้วนมาจากตลาด Yurun แห่งนี้

ส่วน การขนส่งผลไม้จากไทยสู่นครซีอาน โดยทั่วไปใช้ 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ การขนส่งทางเรือ ทางบก และทางอากาศ ผลไม้ส่วนใหญ่จะถูกขนส่งมายัง ท่าเรือกวางโจว จากนั้น จึงขนส่งผ่าน ทางบกมายังนครซีอาน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน และยังสามารถ ขนส่งทางบกโดยตรงผ่านด่านศุลกากรที่ได้รับอนุญาต เช่น ด่านโม่ฮาน มณฑลยูนนาน และด่านโหย่วอี้กวน เขตปกครองตนเองกวางสี ซึ่งเป็นเส้นทางที่เหมาะสำหรับการขนส่งผลไม้ที่มีปริมาณมาก เช่น ทุเรียน ลำไย เป็นต้น อีกทั้ง ยังสามารถขนส่งผ่านทางอากาศ โดยในปี 2560 สนามบินนานาชาติซีอานเสียนหยาง ได้รับการอนุมัติให้เป็นด่านกักกันสำหรับผลไม้นำเข้า

ส่งผลให้ผู้ประกอบการจีนสามารถขนส่งผลไม้ไทยมายังนครซีอานผ่านทางอากาศ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการขนส่งเหลือเพียง 36 ชั่วโมง วิธีนี้เหมาะสำหรับผลไม้ที่มีมูลค่าสูง เนื่องจากใช้ระยะการขนส่งที่สั้น ช่วยรักษาคุณภาพของสินค้าได้ดี อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการขนส่งทางอากาศจะสูงกว่าการขนส่งทางบกและทางเรือ การเลือกใช้เส้นทางขนส่งขึ้นอยู่กับประเภทและปริมาณของผลไม้ ตลอดจนความต้องการด้านคุณภาพและต้นทุนของผู้นำเข้าในนครซีอาน

“ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการ ส่งออกผลไม้สด เช่น ทุเรียน ลำไย และมังคุด ควรดำเนินกลยุทธ์การตลาดแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายตามระดับรายได้ของผู้บริโภค โดยมีการจัดแบ่งผลไม้ตามมาตรฐานคุณภาพ เพื่อตอบสนองต่อกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อแตกต่างกัน โดยผลไม้คุณภาพระดับสูงจัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าระดับ High-end เช่น ห้างสรรพสินค้า SKP และ Ole ซึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ผลไม้คุณภาพระดับกลางควรมุ่งเน้นการจัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าที่มีกลุ่มลูกค้าระดับกลาง เช่น ห้างสรรพสินค้า Vanguard ซึ่งมีฐานลูกค้าที่กว้างในตลาดผู้บริโภคระดับกลาง รวมถึง ผู้ประกอบการไทยยังสามารถร่วมมือกับผู้นำเข้าผลไม้ไทยในนครซีอาน หรือผู้ผลิตน้ำผักผลไม้ของจีน เพื่อนำผลไม้สดแปรรูปเป็นน้ำผักผลไม้ที่มีแนวโน้มการขยายตัวและเป็นที่นิยมในตลาดจีน” น.ส.สุนันทา กล่าว

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือ สายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password