สศอ. รื้อมาตรการส่งเสริม พัฒนา 9 อุตสาหกรรม รับนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรม’

สศอ. เดินหน้าจัดทำมาตรการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม 9 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามนโยบาย ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ มั่นใจช่วยดัน GDP ของประเทศเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาภายในเดือน ก.พ. นี้

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้เดินหน้ายกร่างมาตรการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันกำหนดเป้าหมาย มาตรการสนับสนุนในระยะสั้น กลาง ยาว รวมถึงโครงการเร่งด่วนให้เกิดผลเร็ว (Quick Win) และทิศทางโครงสร้างอุตสาหกรรม 9 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมเหล็กและโลหะการ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

สำหรับแต่ละสาขาอุตสาหกรรมได้กำหนดทิศทางการพัฒนาและผลิตภัณฑ์เป้าหมายในการปรับโครงสร้าง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นฐานการผลิต (Product Champion) เช่น รถยนต์นั่ง รถกระบะ 1 ตัน กลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ประกอบด้วย รถยนต์ไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ล้วน (Battery Electric Vehicle: BEV)

รวมทั้งกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมพลาสติก เน้นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิลในสัดส่วนสูง รองรับการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ จะมุ่งผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ใช้กับโรคที่มีผู้ป่วยจำนวนมากและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ 1. โรคหัวใจและหลอดเลือด 2. โรคเบาหวาน 3. โรคมะเร็ง 4. โรคความดันโลหิตสูง 5. โรคไตเรื้อรัง

อุตสาหกรรมเหล็กและโลหะการ จะสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเหล็กไทย มุ่งสู่การผลิตเหล็กที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ เหล็กเส้น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กท่อ เหล็กลวด และเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ส่งเสริมให้มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงส่งเสริมกิจการออกแบบ สร้างนวัตกรรม และพัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เน้นดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำและเทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับศักยภาพ

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเดิมให้มี High Value/ High Technology รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาต่อยอด อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และโอลิโอเคมีคอล อุตสาหกรรมอาหาร ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลุ่มสินค้าอาหารพื้นฐานที่เป็นความมั่นคงทางอาหาร และกลุ่มสินค้าอนาคต (Future Food) ที่มุ่งเน้นสร้างรายได้เพื่อยกระดับประเทศไปสู่ประเทศรายได้สูง

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เช่น Technical Fiber, Technical Textile และ Fashion Brand

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำการพัฒนาปัจจัยแวดล้อมธุรกิจที่เป็นส่วนสนับสนุนให้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในภาพรวมดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การพัฒนากำลังคน การวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม กระบวนการผลิต การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

“การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมจะช่วยพลิกฟื้นภาคอุตสาหกรรมไทยให้เป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะเพิ่มแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้น ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยตั้งเป้าให้ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนผลักดัน GDP ของประเทศเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 โดยไม่ใช้งบประมาณ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ที่มุ่งเน้น “การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาประมาณเดือน ก.พ. 2568” นายภาสกร กล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password