เครือข่ายหยุดพนัน ยื่น 4 ข้อ! หนุนกฤษฎีกาแยกกาสิโนออกจากเอ็นเตอร์เม้นท์คอมเพล็กซ์

เครือข่ายหยุดพนันบุกกฤษฎีกา ยื่น 4 ข้อหนุนความเห็นกฤษฎีกาแยกกาสิโนออกจากสถานบันเทิงครบวงจร แนะควรอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.พนัน พร้อมขอเวลาให้ภาคีรวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอทำประชามติกาสิโนก่อน ชี้! ไม่ควรรีบทำตามใบสั่งการเมือง แต่ต้องรอบคอบ เหตุส่งผลกระทบวงกว้างมาก

เมื่อช่วงสาย วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ณ บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถนนพระอาทิตย์, นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน พร้อมด้วย ตัวแทนมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายนักศึกษานิติศาสตร์ และเครือชุมชนลดปัจจัยเสี่ยงกว่า 50 คน เข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อแสดงจุดยืนให้ฟังเสียงประชาชน มากกว่ารับคำสั่งฝ่ายการเมือง
เครือข่ายฯได้แสดงละครล้อเลียน คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เปรียบเสมือนพ่อครัวอย่าแต่มุ่งทำอาหารประเคนฝ่ายการเมือง โดยไม่ให้ความสำคัญกับเสียงสะท้อนความต้องการของประชาชน พร้อมชูป้ายข้อความ อาทิ กฤษฎีกาต้องอิสระไม่ถูกควบคุมสั่งการจากการเมือง รัฐบาลต้องเป็นผุ้ควบคุมไม่ใช่เปิดทางสร้างผีพนัน กาสิโนต้องอยู่ภายใต้ พรบ.พนัน เป็นต้น

เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ตามที่ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับดำเนินการตรวจและปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อพร้อมนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ในลำดับถัดไป โดยก่อนหน้านั้น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา โดย มูลนิธิรณรงค์หยุดพนันและภาคีเครือข่าย ใคร่ขอแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. มูลนิธิรณรงค์หยุดพนันและเครือข่ายฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กิจการสถานบันเทิงครบวงจรกับกิจการสถานเล่นพนัน ควรแยกการพิจารณาออกจากกัน เพราะกิจการหนึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่อีกกิจการหนึ่งมีวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาการพนัน ด้วยแต่ละกิจการต่างมีกฎหมายเฉพาะที่ควบคุมอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ เพิ่มขึ้นมาอีก เพราะจะเป็นความซ้ำซ้อน และควรใช้มาตรการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ

2. การออกกฎหมายใหม่นี้ จึงดูมีเจตนาอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้อำนาจออกใบอนุญาต และผู้ประกอบธุรกิจ ในลักษณะจอดจุดเดียวจบ หรือ one-stop service ซึ่งไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องอำนวยความสะดวกให้มากเช่นนี้ และอาจขัดกับกฎหมายเดิมเมื่อถึงคราวปฏิบัติจริง การออกกฎหมายใหม่เพื่อการนี้จึงเปรียบเสมือนการพยายาม “สวมเสื้อตัวใหญ่” ที่จะก่อให้เกิดความรุ่มร่าม จนสุดท้ายเป็นอุปสรรคต่อผู้ใช้งานเอง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 บัญญัติว่า “รัฐพึงมีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น” และในเมื่อสถานกาสิโนคือแหล่งเล่นพนันขนาดใหญ่ กิจการนี้ก็พึงอยู่ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว คือ พระราชบัญญัติการพนัน เป็นการเข้าตามตรอกออกตามประตูที่พึงกระทำ มิใช่การใช้วิธีสร้างทางลัดหรือทางลอดของตนเอง โดยใช้วิธีการออกกฎหมายพิเศษหรือกฎหมายเฉพาะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทำในสิ่งที่ตนอยากทำได้

ที่สำคัญยิ่งคือ รัฐพึงเป็นผู้ควบคุมการพนัน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อภาวะเศรษฐกิจ ความปลอดภัยในชีวิต สุขภาพกายและจิต และความมั่นคงของมนุษย์ รัฐจึงไม่พึงอยู่ในฐานะผู้ส่งเสริมหรือสนับสนุนการเพิ่มแหล่งพนันด้วยนโยบายของรัฐบาลเอง เพราะรัฐเปรียบเสมือนอัศวินผู้ปราบยักษ์มาร มิใช่ผู้เปิดประตูเมืองให้ยักษ์มารย่างกรายเข้ามาอย่างสง่างามโดยการออกกฎหมายใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจการพนัน และหากเอกชนรายใดต้องการประกอบกิจการจำพวกนี้ ก็พีงเสนอขออนุญาตตามช่องทางของกฎหมายที่มีอยู่
3. มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และภาคีเครือข่ายขอเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการกฤษฎีกายืนหยัดในความถูกต้อง โดยยึดมั่นว่า “ลูกค้าที่แท้จริงของท่านคือประชาชน” และ ดำรงความเป็นอิสระจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง เพื่อดำรงศรัทธาและความเชื่อถือของอนุชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาสืบไป
และ 4. ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาสนับสนุนการขอใช้สิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีจัดทำประชามติ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ จึงขอให้รัฐบาลเคารพสิทธิของประชาชน และให้โอกาสเครือข่ายในการดำเนินการรวรวมรายชื่ออย่างน้อย 60 วัน โดยไม่เร่งรัดจะให้ออกกฎหมายนี้โดยเร็วตามความต้องการของฝ่ายการเมือง.