อัด ก.คลัง! ลักไก่ ซุกหวยใหม่ ‘L6 – N3’ เข้า ครม. ชงรัฐทิ้งทวนก่อนยุบสภาฯ
ภาคประชาชนอัดรัฐลักไก่ “ทิ้งทวน” ดันหวยรูปแบบใหม่ “L6 และ N3” เข้า ครม. อังคาร (14) นี้ เผย! ไม่สนเสียงค้านจากสังคมไทย ด้านนักวิชาการระบุ! ไม่ควรออกหวยตัวใหม่ หวั่นซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ ชี้! ไม่เคยมียุคไหนที่เพิ่มสลากมากเท่านี้ เหตุสูงกว่าเดิมถึงสามเท่า
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวแสดงความเห็นกรณี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 14 มีนาคมนี้ เพื่อขอความเห็นชอบในการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลรูปแบบใหม่ L6 และ N3 ว่า คงต้องถามก่อนว่ารัฐบาลต้องการอะไรจากการเพิ่มผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ เพื่อหารายได้เพิ่มหรือเพื่อแก้ปัญหาสลากเกินราคา หากเป็นประเด็นการหารายได้เพิ่ม ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมามีการเพิ่มสลากจาก 36 ล้านฉบับเป็น 100 ล้านฉบับ เพิ่มเป็น 3 เท่า ทำให้รัฐบาลมีรายได้จากสลากเพิ่มขึ้นเยอะมากจากการซื้อสลากของประชาชน ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีสลากมากเท่านี้มาก่อน
“สำหรับสลากตัวใหม่ L6 และ N3 ไม่แน่ใจว่าโครงสร้างของราคาจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าออกมาคล้าย ๆ เดิม เท่ากับรัฐบาลจะมีส่วนแบ่งด้วย ซึ่งเป็นรายได้ที่รัฐบาลได้มาจากผู้มีรายได้น้อย ถามต่อว่าในลักษณะแบบนี้มันไปกระตุ้นเศรษฐกิจไหม คำตอบคือไม่กระตุ้น เพราะกิจการสลากเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีห่วงโซ่การผลิตสั้นมาก จึงไม่ได้ก่อให้เกิดผลต่อวัฏจักรการผลิตสักเท่าไหร่ แต่จะมีผลต่อการบริโภคมากกว่า ลองคิดง่าย ๆ สลาก 1 ชุด มี 1 ล้านใบ เป็นเงินรางวัล 60% มีผู้ถูกรางวัลเพียง 14,168 รางวัล และคนถูกรางวัลใหญ่จะนำเงินมาใช้ไม่มาก สลากจึงเป็นกิจกรรมที่แย่งชิงตลาดการบริโภคสินค้าอื่นๆ ดึงเงินออกจากระบบเศรษฐกิจจริง การที่ประชาชนซื้อสลากงวดละ 100 ล้านใบ ๆ ละ 80 บาท คิดเป็นเงิน 8,000 ล้านบาทต่องวด หรือปีละ 192,000 ล้านบาท แทนที่ประชาชนจะนำเงินจำนวนนี้ไปใช้เพื่อการบริโภคสินค้าและบริการอื่นๆ การเพิ่มสลากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริโภคในลักษณะที่ไม่เป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม” รศ.นวลน้อย กล่าวและว่า
ส่วนการออกผลิตภัณท์ตัวใหม่เพื่อสู้กับหวยใต้ดินนั้น ต้องถามว่าจะสู้อย่างไร เพราะถ้าไปดูบทเรียนสมัยที่ออกหวยเขียน 2 ตัว 3 ตัว ทำได้แค่ดึงส่วนแบ่งมาบางส่วน บางส่วนก็ดึงไม่ได้ ในขณะนี้เศรษฐกิจไทยก็ไม่ค่อยจะดี รัฐบาลก็ยังคิดจะหารายได้จากการออกผลิตภัณฑ์หวยเพิ่มขึ้น ก็รู้สึกเป็นกังวลว่าหวยใต้ดินก็ยังอยู่ และจะมีหวยอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยเพราะไม่อยากให้เพิ่มการพนันในสังคม
ด้าน นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า การแก้ปัญหาสลากแพงด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ เป็นวิธีการที่ล้มเหลวซ้ำซาก ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 11 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธตั้งแต่สมัยคสช. มีการพิมพ์สลากเพิ่มทั้งหมด 11 ครั้ง ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล ขณะที่การเปลี่ยนผ่านการจำหน่ายสลากใบมาสู่การจำหน่ายผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์ แสดงให้เห็นผลว่าทำให้สามารถจำหน่ายสลากได้ในราคา 80 บาทจริง เพียงแต่ว่ายังเป็นสลากส่วนน้อยเท่านั้น จึงยังดึงราคาสลากทั้งตลาดลงมาไม่ได้
สิ่งที่ควรทำต่อคือ การเพิ่มจำนวนสลากเข้าสู่ระบบดิจิตัลให้มากพอ อย่างน้อย 50% ของสลากทั้งหมด หรือ 50 ล้านใบ ก็น่าจะมีผลทำให้ราคาสลากลงมาที่ 80 บาทได้ เรื่องนี้สำนักงานสลากฯ ควรทำโดยเร็ว แต่ก็ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลอะไรถึงเพิ่มจำนวนสลากฯเข้าระบบได้ช้ามาก ทั้งที่เดินมาถูกทางแล้ว และก็ยังไม่เห็นความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องออกสลาก L6 มาซ้ำซ้อนกับสลากใบที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน และดูมีแนวโน้มจะเกิดการ “ตีกิน” เติมจำนวนสลากเพิ่มเข้ามาอีก นอกเหนือจากสลาก 100 ล้านใบเดิม
“ในช่วงปลายรัฐบาลอย่างนี้ หากครม.มีมติที่ดูเป็นการทิ้งทวนเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง จะทำให้รัฐบาลถูกครหาได้ กลายเป็นการจบที่ไม่สวยของรัฐบาลนี้ อีกทั้งเป็นการตอกย้ำว่าที่เคยสัญญาว่าจะแก้ปัญหาสลากแพง 8 ปีผ่านไปยังทำไม่สำเร็จ และกลายเป็นยุคที่ทำให้หวยเฟื่องฟูมากที่สุด” เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ระบุ
นอกจากนี้ ตนยังมีประเด็นที่อยากตั้งข้อสังเกตคือ การอ้างว่าการจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ครั้งนี้ได้ทำตามกฎหมายนั้น พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาลกำหนดให้การจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย และศึกษาผลกระทบทางสังคมก่อน ซึ่งสำนักงานสลากฯได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นดำเนินการในสองเรื่องนี้ แต่เท่าที่ทราบในช่วงที่มีการรับฟังความเห็นตามภูมิภาคต่าง ๆ มีเสียงคัดค้านค่อนข้างมากจากผู้ค้ารายย่อย รวมทั้งภาคประชาสังคม ขณะที่รายงานการศึกษาผลกระทบทางสังคม ก็ไม่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชน ทำให้ดูเหมือนได้ทำแล้วเท่านั้น รับฟังแต่ไม่ได้ยิน และงุบงิบว่า…การออกผลิตภัณฑ์ใหม่จะเกิดผลดีและประชาชนก็เห็นด้วย ที่ถูกแล้วบอร์ดสลากควรต้องชี้แจงต่อข้อคัดค้านทั้งหมด และควรเปิดเผยรายงานการศึกษาผลกระทบทางสังคมให้ประชาชนได้ทราบ.