‘อิ๊ง’ ไม่ถือสา!! ‘ภท.’ แตกแถวโหวตสวนร่างประชามติ บอกพรรคร่วมฯ เห็นต่างได้
“อิ๊ง-แพทองธาร” ชี้ ไม่จำเป็นต้องคุยกับพรรคภูมิใจไทย หลังโหวตสวนร่าง พ.ร.บ.ประชามติ บอกพรรคร่วมฯ เห็นต่างไม่ใช่ปัญหา ชี้การประสานต้องเริ่มที่วิปฯ “ประเสริฐ” รับ ปม โหวตสวนร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ต้องเรียก “ภูมิใจไทย”มาคุย
วันที่ 19 ธ.ค.2567 เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีการลงมติร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม สส.-สว. ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ จำเป็นต้องคุยกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ ว่า ไม่ต้อง ให้เป็นไปตามกระบวนการสภาฯ เพราะบางที สส. พรรคเดียวกันก็คิดไม่เหมือนกัน ไม่เป็นไร ถึงอย่างไรการบริหารงานเราร่วมมือกันอยู่แล้ว เมื่อถามว่าการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลควรมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ในกฎหมายสำคัญเช่นนี้ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า มีหลายความคิดเห็น แต่สุดท้ายก็ต้องคุยกันให้เข้าใจตรงกัน แต่ถือว่าไม่เป็นปัญหาใหญ่อะไร เมื่อถามว่าผลการลงมติที่ออกมาอาจทำให้การทำประชามติถูกเลื่อนออกไป รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า คิดว่าประชามติน่าจะทันแต่ขอคุยกับทางวิปก่อนว่าจะว่าอย่างไร
เมื่อถามย้ำว่าต้องปรับจูนการทำงานกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า จริงๆ ไม่ใช่แค่พรรคภูมิใจไทย แต่กับทุกคนเราก็ปรับไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนหรือคนในพรรคด้วยกันเอง เมื่อถามว่า หมายความว่าหากมีกฎหมายอะไรที่สำคัญนอกเหนือจากนโยบายหลักของรัฐบาลจำเป็นต้องคุยกันก่อน น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า บางทีมีเวลาก็ได้คุยกัน แต่บางครั้งทุกอย่างมันเร็วก็ไม่ได้คุยกัน แต่ให้สภาฯ เป็นคนจัดการ เมื่อถามย้ำว่าตัวนายกฯ จะคุยเองหรือให้วิปรัฐบาลเป็นผู้ประสาน น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า จุดแรกต้องให้วิปสรุปก่อน
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการโหวตร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติของพรรคภูมิใจไทยที่แตกต่างจากพรรคร่วมรัฐบาล จะมีปัญหาในการทำงานร่วมกันในอนาคตหรือไม่ ว่า เป็นความเห็นของพรรคภูมิใจไทยที่โหวตอย่างนั้น แต่ภาพรวมของสภาโหวตอีกอย่างหนึ่ง เรื่องนี้เข้าใจว่าจะมีการชะลอไว้ 180 วันและตั้งคณะกรรมาธิการร่วม
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วม แต่การทำงานในสภาไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จะต้องมีการคุยกันหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกัน ต้องเอาเหตุผลมาพูดคุยกัน ส่วนเรื่องอื่นๆ จะมีปัญหาตามมาหรือไม่นั้น ตนไม่อยากให้มองแบบนั้น เมื่อถามย้ำว่า จะต้องเคลียร์กันก่อนหรือไม่ เพราะในอนาคตยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องพึ่งพากัน นายประเสริฐ กล่าวว่า ในสภามีรัฐบาลดูแลอยู่แล้ว ที่จะมีการกำหนดทิศทางในการโหวตในการประชุมสภาแต่ละครั้งว่าจะเป็นไปในทิศทางใดเพื่อความเป็นเอกภาพของรัฐบาล
เมื่อถามถึงกรณีฝ่ายค้านจะมีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในปีหน้า แต่พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่มีความเป็นเอกภาพจะเป็นปัญหาหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ไม่เป็นปัญหา การอภิปรายไม่ไว้วางใจมี 2 ลักษณะตามมาตรา 151 และ 152 ของรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ ครม. จะต้องตอบเอง ผู้รับผิดชอบแต่ละกระทรวงจะต้องชี้แจงในสิ่งที่ฝ่ายค้านอภิปราย เรื่องนี้เป็นคนละประเด็น เมื่อถามย้ำว่า ถึงอย่างไรจะต้องเกาะเกี่ยวกันแบบนี้ใช่หรือไม่ เพราะจะต้องยกมือโหวตเพื่อช่วยกัน นายประเสริฐ กล่าวว่า ก็เป็นรัฐบาลเดียวกัน ดังนั้น การทำงานต้องมีการประสานงานกันอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า ท่าทีที่แข็งกร้าวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือสมาชิกพรรคเพื่อไทย จะทำให้พรรคภูมิใจไทยอึดอัดในการทำงานหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ไม่มี ความคิดเห็นอาจจะไม่ตรงกันในบางครั้งแต่ไม่ทั้งหมด ส่วนมากในสภาก็โหวตในทิศทางเดียวกัน อาจมีบางเรื่องที่ไม่ตรงกันก็เป็นไปได้
นายประเสริฐ กล่าวว่า เรื่องการโหวตเป็นเรื่องของสภา ไม่จำเป็นต้องให้นายทักษิณ หรือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตรนายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมาพูดคุย เพราะการโหวตเป็นเรื่องของสภา มีประธานวิปที่ประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว ให้ใช้กลไกที่มีอยู่
เมื่อถามย้ำว่า จะใช้แค่วิปรัฐบาลประสาน ไม่ต้องถึงหัวหน้ามือรัฐบาลใช่หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนตอบแทนไม่ได้ เพราะเมื่อกฎหมายเข้าสู่การพิจารณามีขั้นตอนหลายอย่างเป็นเรื่องของเหตุผลที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องชี้แจงกัน คงไม่ใช่เรื่องชนะคะคานกัน.