นายกฯนำทีม ‘คลัง + 8 แบงก์รัฐ’ ผุด ม.การเงินช่วยเหยื่อหลังวิกฤตน้ำท่วมที่เชียงราย

“นายกฯแพทองธาร” นำทีม ครม.และกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ จ.เชียงราย ประกาศมาตรการด้านการเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ภาคเหนือ ในงาน “ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา” พ่วงเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหลายจังหวัดใต้ ด้าน “รองนายกฯพิชัย” มั่นใจ หลังผุดมาตรการแล้ว ภาพรวมเศรษฐกิจไทยดีขึ้น ขณะที่ “ปลัดฯลวรณ” แจง ดึงแบงก์รัฐ 8 แห่ง ร่วมช่วยเหลือเหยื่อน้ำท่วมแล้วกว่า 7.4 แสนราย รวมยอดหนี้มากกว่า 9.4 หมื่นล้านบาท ยืนยัน! พร้อมดำเนินมาตรการด้านการเงินในระยะต่อไป เน้นช่วยเหลือทั้งด้านการฟื้นฟูและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและการสร้างโอกาสใหม่ ๆ แก่คนไทย ได้กลับมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน

เมื่อช่วงสายวันที่ 1 ธันวาคม 25จะ67 ณ ด่านศุลกากร อ.แม่สาย จ.เชียงราย, นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงการคลัง ผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 8 แห่ง และผู้แทนจังหวัดเชียงราย ร่วมเปิดโครงการดำเนินมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยปี 2567 “ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา”

นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐบาลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ให้ความช่วยเหลือ เยียวยาและฟื้นฟู ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย โดยในวันนี้ ได้ร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เร่งช่วยเหลือ เยียวยาและฟื้นฟู ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ขณะเดียวกัน กับพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม รัฐบาลก็ได้สั่งการและมอบหมายให้นางนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี 4-5 คนลงพื้นที่ไปช่วยเหลือตั้งแต่วันแรกที่ได้รับรายงานแล้ว ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาล พร้อมจะช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ไมว่าจะเป็นน้ำท่วมหรืออะไรก็ตาม เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างถึงที่สุด

ด้าน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าววสรุปว่า การลงพื้นที่เพื่อมาช่วยเหลือ เยียวยาและฟื้นฟู พี่น้องชาวจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ภาคเหนือในครั้งนี้ ไม่เพียงจะช่วยแก้ไขปัญหาภายหลังจากน้ำท่วม แต่ยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศให้เติบโตยิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งจากภาพรวมในปัจจุบันจะเห็นแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา เชื่อว่าเศรษฐกิจในปีนี้และปีต่อๆ ไป ก็น่าจะดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวรายงานถึงการจัดทำโครงการดังกล่าว โดยระบุว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และการดำเนินธุรกิจของประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน กระทรวงการคลังร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันออกมาตรการด้านการเงินเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวัน ประกอบอาชีพ และประกอบธุรกิจต่อไปได้ทั้งนี้ สถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือลูกหนี้ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามกลุ่มเป้าหมายของแต่ละสถาบันการเงิน ทั้งในส่วนของลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ซึ่งมีทั้งมาตรการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ย รวมไปถึงมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

ตัวอย่างเช่น ธนาคารออมสิน พักชำระหนี้เงินต้น และลดดอกเบี้ยอัตโนมัติให้แก่ลูกค้าสินเชื่อรายย่อยและ SMEs ธ.ก.ส. ขยายระยะเวลาชำระหนี้ของลูกหนี้เกษตรกร รวมถึงมีระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและยกเว้นดอกเบี้ยปรับ ธอส. ลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ ลูกค้าสินเชื่อบ้าน ธสน. ขยายระยะเวลากู้ สำหรับผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าทั้งที่มีวงเงินกู้ระยะสั้นและระยะยาว ส่วน ธพว. พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงให้วงเงินกู้ฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ ในส่วนของ บสย. ซึ่งค้ำประกันหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ได้ออกมาตรการช่วยเหลือทั้งที่เป็นลูกค้าของ บสย. และลูกหนี้ ของ บสย. นอกจากนี้ ธอท. ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและการยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดชำระ และธนาคารกรุงไทย ได้ออกมาตรการทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครอบคลุมการลดภาระทางการเงิน ทั้งปรับลดค่างวดการผ่อนชำระ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการให้วงเงินฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องในการดำรงชีพ รวมถึงการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่งตามที่ได้กล่าวไปแล้ว กระทรวงการคลังยังได้มีมาตรการเสริมสภาพคล่อง สำหรับผู้ประสบอุทกภัย ครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่แผงลอย เป็นต้น โดยจัดสรรวงเงินจำนวน 50,000 ล้านบาท จากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสินเพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับมาฟื้นฟูกิจการเพื่อประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจได้ต่อไปภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประสบอุทกภัยได้รับสินเชื่อตามโครงการดังกล่าวรวมถึงโครงการสินเชื่ออื่น ๆ จากสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอ รวมถึงสร้างความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน บสย. ได้จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ฟื้นฟู No One Left Behind วงเงินค้ำประกัน 1,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย

นายรลวรณ กล่าวสรุปว่า จากมาตรการที่กระทรวงการคลังร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเร่งด่วนในตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มีประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง เป็นจำนวนมากกว่า 740,000 ราย รวมยอดหนี้มากกว่า 94,000 ล้านบาท สำหรับการดำเนินมาตรการด้านการเงินในระยะต่อไปจะเป็นการเน้นการเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการฟื้นฟูและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ประชาชนสามารถกลับมามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืนโดยกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการดูแลพี่น้องทุกกลุ่มอย่างเต็มที่ โดยจะผลักดันนโยบายรัฐบาลต่าง ๆ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สามารถดูแลคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนพร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพและกำหนดแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยกระทรวงการคลังจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลพี่น้องประชาชนอย่างทันท่วงทีและเหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password