“เขากระโดง-สนามกอล์ฟอัลไพน์” เกมการเมืองวัดใจ “นายใหญ่-ครูใหญ่”
เกมการเมือง อัน เป็นประเด็นร้อนแรง เดิมพันสูงด้วย ที่ดินเขากระโดง ซึ่ง ตระกูล “ชิดชอบ” ครอบครองอยู่กับ ที่ดิน “สนามกอล์ฟอัลไพน์” โจทย์ใหญ่ พุ่งเป้าไปที่ “แพทองธาร ชินวัตร” แม้จะมีการเทขายหุ้น และลาออกจาก บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด แล้วก็ตาม
แต่ก็ยังมีชื่อของ “เอม-พินทองธาร” พี่สาวถือหุ้นอยู่ ย่อมทิ้งร่องรายให้มีการตามล้วง ตามควัก ตั้งแง่ หากจงใจ จะเอาผิด “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร” เล่นงานทางการเมือง บนตำแหน่งเก้าอี้นายกฯของประเทศไทย ที่ดำรงอยู่
อย่างไรก็ตาม จนถึงวินาทีนี้ ยังเป็นที่กังขาว่า ประเด็น “มหากาพย์ที่ดินเขากระโดง” ข้อพิพาทระหว่าง “กรมที่ดิน”กระทรวงมหาดไทย กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ“รฟท.”กระทรวงคมนาคม ถึงที่สุด บทสรุปจะเป็นอย่างไร
เพราะนับตั้งแต่คณะกรรมการสอบสวน ตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีมติ “หักดิบ” ด้วยการ“ไม่เพิกถอน”หรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 – 876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 วินิจฉัยให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นของ รฟท.
รวมถึงคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ที่ระบุให้อธิบดีกรมที่ดิน มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
กระทั่ง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ”รองนายกฯ และรมว.คมนาคม สั่งการให้ รฟท.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง พร้อมวรรคทอง “การรถไฟฯ จะไม่ยอมเสียที่ดินแม้ตารางวาเดียว”
ทว่า ถึงเวลานี้ฝ่ายต้นเรื่องโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดิน ยังคงยืนยันเสียงแข็ง จะต้องให้มีการพิสูจน์สิทธิในประเด็นที่มีปัญหาเสียก่อน
โดยเฉพาะท่าทีขึงขังจาก “ทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย รับผิดชอบกรมที่ดิน ยืนกรานกลางที่ประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การที่ดินทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา
ประเด็นนี้ แม้ศาลมีคำพิพากษาแล้ว ถึงที่สุด ที่ดินดังกล่าวเป็นของ“รฟท.”ทั้งหมด แต่พิพากษาเฉพาะ“คู่ความ”เท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึง“คู่ความคนอื่น” ในส่วนที่ไม่ได้เป็นคู่ความ ก็ต้องมีการพิสูจน์สิทธิ ซึ่งจำนวนนี้มีอยู่ถึง “900 ราย”
แน่นอนว่า เมื่อฝั่งกรมที่ดิน เลือกที่จะ “ทิ้งไพ่”หน้านี้ ย่อมเป็นการตอกย้ำถึงเกมยืดเยื้อ “มหากาพย์ที่ดินเขากระโดง” ที่จะถูกประวิงเวลาออกไปเรื่อยๆ แบบไม่รู้เป้าหมายปลายทาง
เพราะแม้แต่ “ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ในฐานะ สส.พรรคประชาชาติ ผู้ที่เคยอภิปรายเปิดประเด็นนี้ ในรัฐบาลชุดที่แล้ว สมัยเป็นฝ่ายค้าน พุ่งเป้าโดยตรงไปที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”รมว.คมนาคม และเลขาพรรคภูมิใจไทยในเวลานั้น
ก่อนหน้านี้ ทวีพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น “ไม่มีใครใหญ่กว่าคำพิพากษาศาลฎีกา” แต่ถึงเวลาจริง กลับสวมบท “เตมีย์ใบ้” โยนไปให้พรรคการเมือง ที่คุมกระทรวงต้นเรื่อง เป็นฝ่ายคลี่คลายปมแทน
แน่นอนว่า สัญญาณที่ยืดเยื้อออกไปจนมองไม่เห็นจุดจบ ย่อมถูกตีความไปถึง “ละครฉากใหญ่” ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” ที่คุมกระทรวงคมนาคม และ “พรรคภูมิใจไทย” ที่คุมกระทรวงมหาดไทย ภายใต้สัญญาณที่ส่งตรงมาจาก “นายใหญ่” และ “ครูใหญ่” เปิดเกมต่อรองแบบ “แลกคนละหมัด”
อย่าลืมว่า เมื่อฝั่ง “สีน้ำเงิน” มีปมร้อนเขากระโดง ที่ไม่ใช่แค่ข้อถกเถียงประเด็น “เพิกถอน-ไม่เพิกถอน” แต่ยังรวมไปถึงคดีความที่ยังค้างคาอยู่ในองค์กรอิสระ
หากจำกันได้ ช่วงที่พรรคเพื่อไทย เป็นฝ่านค้านในรัฐบาลชุดที่แล้ว หลังเสร็จสิ้นศึกซักฟอกในเดือน ก.ย.2565 “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” เวลานั้น (ซึ่งเป็นรัฐบาลเวลานี้) ได้เข้าชื่อยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวน“ศักดิ์สยาม” รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย น้องชาย “เนวิน ชิดชอบ” ครูใหญ่บุรีรัมย์ จำนวน 3 เรื่อง ซึ่งจำนวนนี้ มีคำร้องเกี่ยวกับกรณี “เขากระโดง” 2 เรื่อง
1.ฝ่าฝืนมาตรฐาน“จริยธรรมอย่างร้ายแรง” ที่ยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ กรณีการครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ให้ ป.ป.ช .ไต่สวนส่งเรื่องให้ศาลฎีกา เหมือนกรณีปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ และกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ
2.กรณีปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ยึดถือ ครอบครองที่ดินรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีการครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดง รวมอยู่ด้วย
ฉะนั้นในวันที่ “ภูมิใจไทย” เรืองอำนาจในกระทรวงมหาดไทยแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมถือดาบกรมที่ดิน ในการ “เพิกถอนสิทธิ” ย่อมถูกจับตาไปถึงเกมยื่นหมูยื่นแมว ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” ที่มีกรณีเพิกถอนโฉนด “สนามกอล์ฟอัลไพน์” อันเป็นที่ “ธรณีสงฆ์” คืนให้กับวัดตามคำสั่งศาล
กรณีนี้มีชื่อของ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมถึงคนในตระกูลชินวัตร เป็นตัวละครสำคัญ
เหนือไปกว่านั้น กรณีที่ดิน “สนามกอล์ฟอัลไพน์” ยังอาจสุ่มเสี่ยงไปสู่ข้อร้องเรียนการตรวจสอบการถือครองในฐานะเป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” โดยเฉพาะประเด็นจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งมีโทษรุนแรงอาจถึงขั้น “ประหารชีวิตการเมือง” ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับบรรดานักการเมืองในช่วงที่ผ่านมา
แม้นาทีนี้ “นายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า” ยังเชื่อในชุดข้อมูลที่ได้รับว่า กรณี “สนามกอล์ฟอัลไพน์” จะไม่เป็นผลลบต่ออนาคตการเมืองของ “นายกฯอิ๊งค์” ผู้เป็นลูกสาว
แต่ภายใต้เกมการเมือง รวมถึงต่อรองที่เกิดขึ้นเวลานี้ เอาเข้าจริง อาจต้องเตรียมแผนตั้งรับ กรณีเกิดเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมาย
โดยเฉพาะกระแสข่าววงในที่ว่า หนังสือเพิกถอนที่ดิน “สนามกอล์ฟอัลไพน์” ถูกลงนามโดย มท.1 อนุทิน ชาญวีรกูล ไว้แล้ว เพียงยังไม่ใส่วันที่ เสมือนยื้อเวลาเพื่อต่อรองอะไรบางอย่าง
ก่อนหน้านี้ ในวงเพื่อไทยก็เคยหยิบยกประเด็น “เขากระโดง” มาหารือ ทว่าสัญญาณกลับกลายเป็นว่า โยนไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการ ไม่ใช่การออกหน้าในนามพรรค
ท่าทีของ “สุริยะ ” ในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงไฟต์บังคับในฐานะเจ้ากระทรวงคมนาคม ที่ต้องออกมาแอ็กชั่น เพื่อเลี่ยงถูกกระสุนตกใส่ ด้วยการถูกฟ้องตาม ม.157 ก็เป็นได้
เป็นเช่นนี้ ต้องจับตา “ไพ่ต่อรอง” ที่ต่างฝ่ายต่างถืออยู่ในมือ ระหว่าง “2 นาย” เพื่อไทย และภูมิใจไทย ที่ขบเหลี่ยม-เฉือนคม กันไม่เลิก เพียงแต่ยังไม่ถึงขั้นแตกหัก
สัญญาณยืดเยื้อประวิงเวลา เขากระโดง VS อัลไพน์ อาจทอดเวลาออกไปเรื่อยๆ เหมือน “ละครฉากใหญ่” ที่ยังไม่ถึงตอนอวสาน
ทว่า ที่น่าลุ้นมากกว่า คือเกมจากทั้ง “ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น” จะหยิบยกประเด็นนี้ มาขยายแผลทั้งในและนอกสภาฯ ได้มากน้อยเพียงใด
โดยเฉพาะกระแส “ปลุกม็อบ”ลงถนนเวลานี้ ซึ่งถูกมองว่า ยังเป็น “ไม้ขีดไฟก้านน้อย” ที่ไร้พลังทำลายล้างรัฐบาล รวมถึงพรรคร่วมฯ ได้
ทว่า เกมต่อเรื่อง 2 คดีร้อนนี้ ก็ถือเป็นประเด็นอ่อนไหว ที่อาจปะทุความขัดแย้งในอนาคตได้ไม่ยาก หากฝ่ายใดพลาดท่า เปิดช่องโหว่ อาจเข้าทางเกมนิติสงครามจาก “ฝ่ายจ้องล้ม” ที่พร้อมหยิบยกมาเป็น “เงื่อนไข” เขย่าเสถียรภาพรัฐบาล ก็เป็นได้!