‘อรมน’ ชี้! ธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ตัวช่วยรองรับเทรนด์ธุรกิจโลกอนาคต
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผย! ธุรกิจในอนาคตทั่วโลกให้ความสำคัญอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ย้ำ! เป็นความท้าทายที่ธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัว ไม่ตกเทรนด์ แนะทำธุรกิจสอดคล้องกฎระเบียบ/มาตรการทางการค้าใหม่ๆ มุ่งสร้างสังคมยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ทำการวิเคราะห์ธุรกิจที่มีความโดดเด่นและเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง พบว่า ‘ธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม’ เป็นธุรกิจที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อภาคธุรกิจ และมีโอกาสเติบโตตามกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกฎระเบียบใหม่ๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้ความต้องการที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น
ทั้งนี้ ธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมมีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจและมูลค่าทุนจดทะเบียน ดังนี้ ปี 2564 จัดตั้ง 41 ราย ทุน 81 ล้านบาท ปี 2565 จัดตั้ง 44 ราย (เพิ่มขึ้น 3 ราย หรือ 7.32%) ทุน 57.26 ล้านบาท (ลดลง 23.74 ล้านบาท หรือ 29.31%) ปี 2566 จัดตั้ง 76 ราย (เพิ่มขึ้น 32 ราย หรือ 72.73%) ทุน 303.39 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 246.13 ล้านบาท หรือ 429.85%) ปี 2567 มกราคม – ตุลาคม จัดตั้ง 78 ราย ทุน 159.46 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมของธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม 3 ปีย้อนหลัง (2564 – 2566) พบว่า ปี 2564 รายได้รวม 7,152.69 ล้านบาท ปี 2565 รายได้รวม 7,227.91 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 75.22 ล้านบาท หรือ 1.06%) ปี 2566 รายได้รวม 8,941.95 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,714.04 ล้านบาท หรือ 23.72%) ขณะที่ผลประกอบการของธุรกิจ ปี 2564 กำไร 146.65 ล้านบาท ปี 2565 กำไร 375.99 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 229.34 ล้านบาท หรือ 156.39%) ปี 2566 กำไร 534.26 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 158.27 ล้านบาท หรือ 42.10%)
ส่วนมูลค่าการลงทุนของต่างชาติที่ลงทุนในธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในนิติบุคคลไทย ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 แบ่งเป็น คนไทย 4,352.83 ล้านบาท (77.23%) และชาวต่างชาติ 1,283.05 ล้านบาท (22.77%) โดยต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 717.54 ล้านบาท (55.92%) 2) จีน 245.74 ล้านบาท (19.15%) และ 3) สหรัฐอเมริกา 76.89 บาท (5.99%) ทั้ง 3 สัญชาติส่วนใหญ่เน้นลงทุนในธุรกิจวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิต และปรับปรุงสินค้าให้สอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567) มีนิติบุคคลที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินกิจการอยู่ 728 ราย ทุนรวม 5,635.88 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) จำนวน 696 ราย (95.60%) ขนาดกลาง (M) 25 ราย (3.43%) และ ขนาดใหญ่ (L) 7 ราย (0.96%) ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด 698 ราย (95.88%) ทุน 5,605.43 ล้านบาท (99.46%) และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 30 ราย (4.12%) ทุน 30.45 ล้านบาท (0.54%)
นอกจากนี้ ธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม’ จึงเป็นโอกาสใหม่ของธุรกิจไทยในปัจจุบัน ผู้สนใจอาจจำเป็นต้องเตรียมทักษะ บุคลากร และเทคโนโลยีด้านนี้ ขณะเดียวกัน การมีที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยให้มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันระดับโลก โดยธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านที่จำเป็นต่างๆ เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ รองรับสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสม ทั้งความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายในและระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถวางกลยุทธ์ได้อย่างถูกต้อง ความเชี่ยวชาญด้านกระบวนการผลิตและการพัฒนาสินค้า/บริการ วัตถุดิบทดแทน และห่วงโซ่อุปทานที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ และความเชี่ยวชาญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและผลกระทบภายหลังกระบวนการผลิต เช่น การบำบัดของเสีย การประเมินผลกระทบสังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น.