พณ.ปลื้มหลายปัจจัยบวก ดันยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ 10 ด. แตะ 7.7 หมื่นราย โต 2.18% มั่นใจทั้งปี’67 ทะลุ 9 หมื่นราย

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยผลการจดทะเบียนธุรกิจใหม่สะสม 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม 2567) แตะ 7.7 หมื่นราย โตขึ้น 2.18% เฉพาะเดือนตุลาคม 2567 จดทะเบียน 7,267 ราย โตขึ้น 9% ปัจจัยสนับสนุนมาจากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะเริ่มในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 การจับจ่ายใช้สอยเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการยังขยายตัวในหลายภูมิภาค คาดตลอดปี 2567 จัดตั้งธุรกิจใหม่ทะลุ 9 หมื่นราย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์สถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนตุลาคม 2567 มีจำนวน 7,267 ราย เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้น 620 ราย (9.33%) และทุนจดทะเบียน 30,149.01 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้น 2,938.03 ล้านบาท (10.80%) ประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 573 ราย ทุน 1,150.87 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 524 ราย ทุน 1,954.06 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 345 ราย ทุนจดทะเบียน 671.39 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.88% 7.21% และ 4.75% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนตุลาคม 2567 ตามลำดับ

โดยในเดือนตุลาคม 2567 มีนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท ที่เกิดจากการควบรวมกิจการจำนวน 1 ราย ซึ่งเป็นการควบระหว่างบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) เดิม (ห้างแม็คโคร) กับบริษัท เอกชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (ห้างโลตัส) เป็น บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ใหม่ มูลค่าทุนจดทะเบียน 10,427.66 ล้านบาท ประกอบกิจการค้าส่งและค้าปลีก

“การจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม) ปี 2567 มีจำนวน 76,953 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 1,641 ราย (2.18%) ทุนจดทะเบียน 238,630.39 ล้านบาท ลดลง 282,952.67 ล้านบาท (54.25%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เนื่องจาก ปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์เพราะมี 2 ธุรกิจที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ ทั้งนี้ 10 เดือนปี 2567 มี ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 5,867 ราย ทุน 12,893.94 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 5,753 ราย ทุน 24,787.78 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 3,557 ราย ทุน 7,198.17 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.62% 7.48% และ 4.62% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2567 ตามลำดับ” อธิบดีฯอรมน กล่าว

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์การจดทะเบียนตลอดไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ยังมีปัจจัยกระตุ้นด้านการลงทุน อาทิ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานปีงบประมาณ 2568 ที่จะเริ่มในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 (ตุลาคม 2567) การจับจ่ายใช้สอยเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการยังขยายตัวในหลายภูมิภาค และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในสถานการณ์การประกอบธุรกิจ และความเชื่อมั่นในการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเพิ่มขึ้นช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการใช้จ่ายให้กับภาคเศรษฐกิจไทย คาดว่าตลอดปี 2567 จะมีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เกิน 90,000 ราย

ส่วนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนตุลาคม 2567 มีจำนวน 2,516 ราย เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้น 276 ราย (12.32%) และทุนจดทะเบียนเลิก 9,899.41 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้น 945.17 ล้านบาท (10.56%) ประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 218 ราย ทุน 389.14 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 108 ราย ทุน 3,202.14 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 100 ราย ทุน 387.23 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.66% 4.29% และ 3.98% จากจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนตุลาคม 2567 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม 2567 มีนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 ราย คือ บริษัท เอพี เอ็มอี 2 จำกัด ทุนจดทะเบียนเลิก 2,001.00 ล้านบาท ประกอบกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์การจัดการที่ดินเปล่า หรือจัดสรรที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารชุด โดยการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการสะสม 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม 2567) มีจำนวน 14,762 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ลดลง 488 ราย (3.20%) ทุนจดทะเบียนเลิกสะสม 125,904.66 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 35,549.79 ล้านบาท (39.34%) ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากในเดือนพฤษภาคม 2567 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร 1 ราย ที่ทุนจดทะเบียนกว่า 48,209.34 ล้านบาท แต่มีการปรับโครงสร้างการดำเนินการและไม่ได้ประกอบกิจการใดแล้วจึงจดทะเบียนเลิกธุรกิจ เป็นเหตุให้ตัวเลขทุนจดทะเบียนเลิกสะสมในช่วง 10 เดือน ปี 2567 สูงกว่าปกติ ซึ่งหากไม่รวมทุนจดทะเบียนเลิกของธุรกิจโทรคมนาคมรายนี้ มูลค่าทุนจดทะเบียนเลิกจะลดลงถึง 14% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 941,727 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.34 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 737,658 ราย (78.33%) ทุนรวม 16.15 ล้านล้านบาท (72.30%) ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 202,588 ราย (21.51%) ทุนรวม 0.47 ล้านล้านบาท (2.11%) และ บริษัทจำกัดมหาชน 1,481 ราย (0.16%) ทุนรวม 5.72 ล้านล้านบาท (25.59%) เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) 879,414 ราย (93.38%) ทุนรวม 8.18 ล้านล้านบาท (36.60%) ขนาดกลาง (M) 46,386 ราย (4.93%) ทุนรวม 2.75 ล้านล้านบาท (12.31%) และ ขนาดใหญ่ (L) 15,927 ราย (1.69%) ทุนรวม 11.41 ล้านล้านบาท) (51.09%) แยกตามประเภทธุรกิจ บริการ 507,786 ราย (53.92%) ทุนรวม 13.14 ล้านล้านบาท (58.81%) ขายส่ง/ปลีก 309,107 ราย (32.82%) ทุนรวม 2.50 ล้านล้านบาท (11.21%) และ ผลิต 124,834 ราย (13.26%) ทุน 6.70 ล้านล้านบาท (29.98%) โดยคาดว่าในปี 68 ยอดจดทะเบียนรวมจะเกิน 1 ล้านราย ซึ่งมีหลายปัจจัยหนุนแม้จะมีสถานการณ์ไม่สงบในต่างประเทศแต่การลงทุนทั้งในและต่างประเทศในไทยยังเติบโตดี จึงคาดว่าปี 68 ยอดจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่จะมีมากและเกิน 100,000 รายขึ้นไปอีกด้วย

ส่วนการลงทุนประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ 10 เดือน ขณะที่ 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม 2567) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 786 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 181 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 605 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 161,169 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 3,037 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 211 ราย (27%) ลงทุน 91,700 ล้านบาท 2) สิงคโปร์ 110 ราย (14%) ลงทุน 14,779 ล้านบาท 3) จีน 103 ราย (13%) ลงทุน 13,806 ล้านบาท 4) สหรัฐอเมริกา 103 ราย (13%) ลงทุน 4,552 ล้านบาท และ 5) ฮ่องกง 57 ราย (7%) ลงทุน 14,461 ล้านบาท

ด้านการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ 10 เดือน ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 251 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 141 ราย หรือเพิ่มขึ้น 128% เดือน ม.ค. – ต.ค. 67 ลงทุน 251 ราย / เดือน ม.ค. – ต.ค. 66 ลงทุน 110 ราย) มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 45,739 ล้านบาท คิดเป็น 28% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 27,148 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 146%) (เดือน ม.ค. – ต.ค. 67 เงินลงทุน 45,739 ล้านบาท / เดือน ม.ค. – ต.ค. 66 เงินลงทุน 18,591 ล้านบาท) เป็นนักลงทุนจาก *ญี่ปุ่น 86 ราย ลงทุน 16,184 ล้านบาท *จีน 59 ราย ลงทุน 8,030 ล้านบาท *ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 88 ราย ลงทุน 16,306 ล้านบาท

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ลงทุนใน 1) ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ 2) ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย 3) ธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่าง ๆ เพื่อติดตั้งระบบสายพานที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า 4) ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน (SOFTWARE PLATFORM) ซึ่งเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับจัดการการจำหน่ายหรือเผยแพร่ผลงานเพลง และ 5) ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า อาทิ ชิ้นส่วนสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป, ชิ้นส่วนโฟมสำหรับอุตสาหกรรม เป็นต้น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password