กรมการค้าภายในจัดชุด ‘สายตรวจ DIT’ ลุย ‘8 จ.เหนือ’ รับรองมาตรฐาน ‘เครื่องคัดขนาดลำไย’ สร้างความเป็นธรรมการซื้อขาย อัพมาตรฐานสู่ตลาดโลก

กรมการค้าภายใน จัดชุดสายตรวจเฉพาะกิจ DIT บูรณาการตรวจสอบเครื่องวัด “คัดขนาดลำไย” แบบตะแกรงร่อน พร้อมลงพื้นที่ 8 จ.ภาคเหนือ “แหล่งผลิตลำไยสำคัญของประเทศ” สานต่อภารกิจคุ้มครองเกษตรกรผู้ปลูกลำไย พร้อมยกระดับมาตรฐานการซื้อขายลำไยให้เป็นธรรมและน่าเชื่อถือสำหรับฤดูกาลปี 2568

เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2568 ที่ผ่านมา นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ ที่มุ่งเน้นบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร และเสริมช่องทางการตลาดให้กับสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ไทย ดังนั้น เมื่อวันที่ 14 ก.ค. จึงได้ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และนำเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบเครื่องคัดขนาดลำไย เพื่อดูแลความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ โรงอบลำไย และผู้ส่งออก โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดจำนวนมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในการซื้อขายหากไม่มีการควบคุมมาตรฐานที่ชัดเจน

ทั้งนี้ กรมฯ ได้จัดชุดสายตรวจเฉพาะกิจลงพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก แพร่ และน่าน เพื่อดำเนินการตรวจสอบเครื่องร่อนคัดขนาดลำไยสดรูดร่วงอย่างครอบคลุม โดยเครื่องที่ผ่านการตรวจรับรองจากกรมฯ จะได้รับ “เครื่องหมายคำรับรอง” ซึ่งเป็น ซีลตราครุฑ ติดไว้ 3 จุด ได้แก่ ฝาประกับเครื่อง 2 จุด และระดับน้ำ 1 จุด เพื่อป้องกันการดัดแปลงอุปกรณ์ภายหลัง พร้อมทั้งติดสติกเกอร์ตรวจสอบประจำปี โดยเครื่องที่ได้รับการรับรองจะมีอายุการใช้งานนาน 2 ปี

รองอธิบดีฯ ย้ำว่า หากผู้ประกอบการยังคงใช้เครื่องที่ไม่ได้ผ่านการตรวจรับรอง จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 มาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรให้ความร่วมมือในการนำเครื่องมารับการตรวจสอบตามระเบียบ
“การดูแลความเป็นธรรมในกระบวนการซื้อขายลำไยตั้งแต่ต้นทาง นับเป็นภารกิจสำคัญของกรมการค้าภายใน เพื่อคุ้มครองเกษตรกรและส่งเสริมความเชื่อมั่นของตลาดทั้งในและต่างประเทศ” นายอุดม กล่าวเพิ่มเติม พร้อมเชิญชวนผู้เกี่ยวข้องร่วมยกระดับมาตรฐานลำไยไทย ให้มีคุณภาพน่าเชื่อถือ สามารถแข่งขันและส่งออกได้อย่างมั่นใจในตลาดโลก.




You may also like
