กรมพัฒนาธุรกิจฯเปิดทาง ‘เกษตรกรนครนายก’ เข้าถึงแหล่งเงินทุน – ใช้ ‘ต้นไม้’ เป็นหลักประกันเงินกู้ธุรกิจ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ (ศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยง) จ.นครนายก เร่งขับเคลื่อนนโยบายการสร้างโอกาสเข้าถึง “แหล่งเงินทุน” ให้เกษตรกรผ่านการใช้ “ต้นไม้” เป็นหลักประกันทางธุรกิจ จับมือหน่วยงานในและนอกพื้นที่ “ธ.ก.ส. – อบก. – สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครนายก” จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ความรู้ เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างทางเลือกใหม่ให้เกษตรกร

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนมอบหมายให้ นายสถาพร ร่วมนาพะยา รองอธิบดีฯ เป็นประธานเปิด โครงการส่งเสริมไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ณ วิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ (ศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยง) จ.นครนายก โดยกรมฯ พร้อมเดินหน้า ส่งเสริมองค์ความรู้และสร้างความเข้าใจด้านหลักประกันทางธุรกิจให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน ตลอดจน ผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรฐานรากทั่วประเทศ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ยังให้ความสำคัญกับ การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ และประชาชนในทุกระดับ โดยสนับสนุนการนำทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาใช้เป็นหลักประกัน ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ แต่ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม และสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะใน กลุ่มผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร โดยการนำ ทรัพย์สินอื่น คือ ไม้ยืนต้น มาใช้เป็นหลักประกัน ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร และประชาชน ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เสริมสร้างสภาพคล่อง เป็นทุนหมุนเวียนในธุรกิจ และการเกษตร

โดยวันนี้ (15 ก.ค.2568) กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงพื้นที่จังหวัดนครนายก ณ วิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ (ศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยง) ซึ่งเป็น ศูนย์เรียนรู้การเกษตรที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางของรัชกาลที่ 9 เป็น “โครงการนำร่อง” เกี่ยวกับการปลูกพืชแบบผสมผสานหรือเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกับ ธ.ก.ส. เช่น สนับสนุนแหล่งเรียนรู้ หรือ กิจกรรมอบรมเกษตรกรในชุมชน และมีแนวคิดเกี่ยวกับ “ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์” ที่สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น เช่น ไม้ผล (มะยงชิด  มะม่วง)  ไม้เศรษฐกิจ (ยางนา) และ การทำปุ๋ยชีวภาพ

“สำหรับการจัดงานในวันนี้ เป็นการทำงานบนความร่วมมือกันระหว่าง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, ธ.ก.ส. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. และ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครนายก เพื่อช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ ผู้ประกอบการ เกษตรกร ชุมชน หน่วยงานต่างๆ และประชาชน ให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินของตนเอง” อธิบดีฯอรมน กล่าวและย้ำว่า…

นอกจาก องค์ความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ การเพิ่มมูลค่าการปลูกต้นไม้ด้วยกลไกคาร์บอนเครดิต ที่กรมฯ  ธ.ก.ส. และอบก. ร่วมกันบรรยายให้ความรู้แล้ว ยังมี “ไฮไลท์สำคัญ” คือ การสาธิตวิธีการวัดไม้ยืนต้นที่ต้องการนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อประเมินมูลค่าการให้สินเชื่อในเบื้องต้นของสถาบันการเงิน เช่น ต้นไม้ที่จะได้รับการประเมินมูลค่าต้องมีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ปริมาณและราคาเนื้อไม้จะสัมพันธ์กับเส้นรอบวงต้นที่ความสูง 130 เซนติเมตรจากพื้นดิน เป็นต้น

โดย ต้นไม้ที่เกษตรกรนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจกับสถาบันการเงิน เช่น ธ.ก.ส. (โครงการธนาคารต้นไม้) ได้แก่ มะขาม มะกอกป่า สะเดา ต้นเต็ง รัง ประดู่บ้าน ประดู่ป่า เป็นต้น รวมทั้ง การประเมินการกักเก็บคาร์บอนเครดิตของต้นไม้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมได้รับรู้ถึงคุณสมบัติที่โดดเด่นของต้นไม้อีกด้วย ทั้งนี้ กรมฯ เตรียมขยายผลแนวทางการส่งเสริมไปยังพื้นที่เกษตรกรรมสำคัญทั่วประเทศ เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และปลอดภัยในระยะยาว

ต้นไม้ไม่ใช่แค่ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังเป็นทรัพย์ทางเศรษฐกิจที่สามารถสร้างโอกาสและความมั่นคงทางการเงินให้เกษตรกรได้ การเปิดโอกาสให้เกษตรกรใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ จึงถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และผลักดันเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตอย่างยั่งยืน” อธิบดีฯอรมน กล่าวสรุป

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568) มีผู้นำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 28 จังหวัด จำนวน 167,302 ต้น วงเงินค้ำประกันรวม 185,826,768.04 บาท ซึ่งต้นไม้ที่นำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ประกอบด้วย ต้นสัก ยาง พะยอม ประดู่ป่า พะยูง พฤกษ์ มะขาม ไม้สกุลทุเรียน กฤษณา เป็นต้น

สอบถามรายละเอียดการอบรมเพิ่มเติมได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร. 0 2547 4944  e-mail : stro@dbd.go.th หรือ www.dbd.go.th.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password