เข้มสุด! ศุลกากรจับแหลก ‘ยาเสพติด – สินค้าผิด กม.’ มูลค่ากว่า 16.6 ล.

กรมศุลกากรยุค “ธีรัชย์ อัตนวานิช” ขานรับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการคลังสุดๆ เดินหน้าตรวจสุดเข้ม เผย! ช่วง 5-20 พ.ย.2567 จับหนักทั้งยาเสพติด “เคมี + สมุนไพร” รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าไร้คุณภาพ และตู้คีบตุ๊กตา รวมกว่า 16.6 ล้านบาท

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากร ภายใต้การนำของ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีฯ ได้ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเฝ้าระวังและเร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้ามาในและส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งยาเสพติดและสินค้าอื่น ๆ ที่ผิดกฎหมายในทุกช่องทาง เพื่อปกป้องสังคมไทย โดยในระหว่างวันที่ 5 – 20 พฤศจิกายน 2567 กรมศุลกากรได้เร่งปฏิบัติการปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย มีผลงานการจับกุมที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

1. ยาเสพติด :

 – เมฟีโดรน (Mephedrone)

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราม และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ทำการตรวจสอบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศต้องสงสัย ต้นทางสหราชอาณาจักร เบื้องต้นพบความผิดปกติจากภาพ X – RAY ตรวจสอบพบ ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เมฟีโดรน (Mephedrone) ลักษณะเป็นก้อนผลึกและเกล็ดสีขาว ซุกซ่อนภายในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน จำนวน 2 กระปุก น้ำหนัก 2,340 กรัม มูลค่าประมาณ 2.34 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 พบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศต้องสงสัย ต้นทางสหราชอาณาจักร เบื้องต้นพบความผิดปกติจากภาพ X – RAY ตรวจสอบพบ ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เมฟีโดรน (Mephedrone) ลักษณะเป็นผลึกสีน้ำตาล ซุกซ่อนภายในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน จำนวน 2 กระปุก น้ำหนัก 2,989 กรัม มูลค่าประมาณ 2.989 ล้านบาท

– คีตามีน (Ketamine)

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราม ชุดปฏิบัติการ AITF และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด พบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศต้องสงสัย ต้นทางสหราชอาณาจักร เบื้องต้นพบความผิดปกติจากภาพ X – RAY ตรวจสอบพบ ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 คีตามีน (Ketamine) ลักษณะเป็นผงสีขาว น้ำหนัก 33 กรัม มูลค่าประมาณ 33,000 บาท

– MDMA (Ecstasy)

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราม ชุดปฏิบัติการ AITF และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้ามต้องกำกัดเข้ามาในราชอาณาจักร พบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศต้องสงสัย ไม่ระบุประเทศต้นทาง เบื้องต้นพบความผิดปกติจากภาพ X – RAY ตรวจสอบพบ ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 MDMA (Ecstasy) ลักษณะเป็นผลึกสีเหลืองน้ำตาล บรรจุในถุงพลาสติกใสห่อหุ้มด้วยถุงสีเงิน น้ำหนัก 108 กรัม มูลค่าประมาณ 648,000 บาท

การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดในการพยายามนำยาเสพติดให้โทษ เข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 244 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด สำหรับสถิติในการจับกุมยาเสพติด ปีงบประมาณ 2568 (1 ตุลาคม 2567 – 21 พฤศจิกายน 2567) จับกุมได้ 29 คดี มูลค่า 61.61 ล้านบาท

2 ช่อดอกกัญชา :

จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางการข่าวและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านการป้องกันการลักลอบขนยาเสพติดกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศ พบว่า ช่อดอกกัญชา เป็นที่นิยมและมีราคาสูงในประเทศแถบทวีปยุโรป จึงมีความเสี่ยงในการลักลอบนำกัญชาออกไปนอกราชอาณาจักร รวมถึงยาเสพติดประเภทอื่น ๆ ที่ยังคงมีการลักลอบนำเข้าและส่งออกอย่างต่อเนื่อง กรมศุลกากรจึงได้ร่วมกับชุดปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task Force : AITF) ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช. ปส.) เฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบการลักลอบส่งออก – นำเข้ากัญชา รวมถึงยาเสพติดประเภทอื่น ๆ ผ่านท่าอากาศยาน อย่างเข้มงวด

โดยระหว่างวันที่ 5 และ 6 พฤศจิกายน 2567 กรมศุลกากร โดยด่านศุลกากรท่าอากาศยานภูเก็ต ในสังกัดสำนักงานศุลกากรภาคที่ 5 ได้ดำเนินการตรวจค้นผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำกัญชาออกนอกราชอาณาจักร และจับกุมผู้ต้องหาพร้อมยึดของกลางเป็นช่อดอกกัญชา ที่ซุกซ่อนไว้ในกระเป๋าสัมภาระ มีรายละเอียดดังนี้

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 เวลา 19.25 น. จับกุมชายสัญชาติอังกฤษ อายุ 20 ปี กำลังจะเดินทางไปท่าอากาศยานนานาชาติฮะมัด โดฮา ประเทศกาตาร์ เพื่อต่อเที่ยวบินไปยังท่าอากาศยานลอนดอน แกตวิก สหราชอาณาจักร พร้อมของกลางช่อดอกกัญชา จำนวน 33 ห่อ น้ำหนัก 19 กิโลกรัม มูลค่า 190,000 บาท

ต่อมาเวลา 21.30 น. จับกุมชายสัญชาติอังกฤษ อายุ 37 ปี กำลังจะเดินทางไปท่าอากาศยานนานาชาติ อิสตันบูล ประเทศตุรกี เพื่อต่อเที่ยวบินไปยังท่าอากาศยานแมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร พร้อมของกลางช่อดอกกัญชา จำนวน 42 ห่อ น้ำหนัก 24.5 กิโลกรัม มูลค่า 245,000 บาท 

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567  เวลา 09.00 น. จับกุมชายสัญชาติอังกฤษ อายุ 23 ปี กำลังจะเดินทางไปท่าอากาศยานนานาชาติซายิด กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อต่อเที่ยวบินไปยังท่าอากาศยานอัมสเตอร์ดัมสคิปโฮล ประเทศเนเธอร์แลนด์ พร้อมของกลางช่อดอกกัญชา จำนวน 24 ห่อ น้ำหนัก  52.5 กิโลกรัม มูลค่า 525,000 บาท

ต่อมาเวลา 21.30 น. จับกุมหญิง สัญชาติอังกฤษ อายุ 18 ปี กำลังจะเดินทางไปท่าอากาศยานนานาชาติอิสตันบูล ประเทศตุรกี เพื่อต่อเที่ยวบินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร พร้อมของกลางช่อดอกกัญชา จำนวน 18 ห่อ น้ำหนัก 18.1  กิโลกรัม มูลค่า 181,000 บาท

จากนั้น เวลา 23.30 น. จับกุมชายสัญชาติอินเดีย อายุ 36 ปี กำลังจะเดินทางไปท่าอากาศยานนานาชาติเนตาจี สุภาษ จันทระ โพส (โกลกาตา) ประเทศอินเดีย พร้อมของกลางช่อดอกกัญชา จำนวน 15 ห่อ และขนาดซองพกพา 356 ซอง น้ำหนัก 9.1 กิโลกรัม มูลค่า 91,000 บาท

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ดำเนินการตรวจสอบใบขนสินค้าที่ต้องสงสัยว่ามีสิ่งผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ ซึ่งมีคำขอส่งของเร่งด่วนออกโดยรีบด่วน (Urgently Request) ปลายทางสหราชอาณาจักร (GB) สำแดงสินค้าเป็น HOME DECORATION LAMP BOX เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงประสานบริษัทตัวแทนผู้ส่งออกเพื่อดำเนินการตรวจค้น พบช่อดอกกัญชาซุกซ่อนอยู่ภายในโคมไฟไฟฟ้าที่ได้ถอดอุปกรณ์ต่าง ๆ ออก และปิดบังอำพรางด้านบนด้วยโคมไฟปกติ จำนวน 60 ห่อ น้ำหนัก 63 กิโลกรัม มูลค่า 630,000 บาท

และต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ได้ดำเนินการตรวจสอบสินค้าขาออกปลายทางสหราชอาณาจักร (GB) สำแดงชนิดสินค้าเป็นเซรามิก โดยตรวจพบสินค้าเป็นช่อดอกกัญชาบรรจุซุกซ่อนอยู่ในกล่องกระดาษ จำนวน 18 กล่อง น้ำหนักรวม 160 กิโลกรัม มูลค่า 1,600,000 บาท  เนื่องจากช่อดอกกัญชาจัดเป็นสมุนไพรควบคุม และผู้ใดประสงค์จะส่งออกจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาต ซึ่งในขณะตรวจค้นผู้ส่งออกไม่มีใบอนุญาตดังกล่าวมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ฯ

การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานสำแดงข้อมูลไม่ถูกต้อง ปฏิบัติพิธีการไม่ถูกต้อง และส่งออกของที่กำลังผ่านพิธีการศุลกากรออกไปนอกราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัดเกี่ยวกับของนั้น อันเป็นความผิดตามมาตรา 202 208 244 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 และพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542

สำหรับสถิติในการจับกุมกัญชา ช่อดอกกัญชา ต้นกัญชา น้ำมันกัญชา ยางกัญชาและเมล็ดกัญชา ปีงบประมาณ 2568 (1 ตุลาคม 2567 – 21 พฤศจิกายน 2567) จับกุมได้ 105 คดี ปริมาณ 764 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 7.644 ล้านบาท  

3. เครื่องใช้ไฟฟ้า :

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ขอหมายค้นเพื่อเข้าตรวจสอบโกดังเก็บสินค้าในพื้นที่ตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากได้รับแจ้งว่า มีการเก็บสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อเข้าตรวจสอบ พบสินค้าที่ไม่มีหนังสือรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) อาทิ ปืนนวดไฟฟ้า น้ำยาทำความสะอาดครัวเรือน น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ เครื่องชงกาแฟ เครื่องทำน้ำแข็ง และอื่น ๆ จำนวนกว่า 40,000 ชิ้น มูลค่า 5,000,000 บาท ทั้งนี้ สินค้าทั้งหมดมีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และเบื้องต้นไม่พบเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง

กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

4. เครื่องเล่นเกม (ตู้คีบตุ๊กตา) :

 เมื่อวันที่ 5 – 13 พฤศจิกายน 2567 กรมศุลกากร โดยด่านศุลกากรนครพนม ในสังกัดของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ได้ตรวจสอบใบขนสินค้าขาเข้า พบสินค้าไม่ตรงตามสำแดง เป็นเครื่องเล่นเกม (ตู้คีบตุ๊กตา) จำนวน 50 ตู้ มูลค่า 1.177 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจสอบใบขนสินค้าขาเข้า สำแดงเป็นตู้โชว์ (CABINET SHOWCASE) เมื่อทำการตรวจสอบพบสินค้าเป็นเครื่องเล่นเกม (ตู้คีบตุ๊กตา) จำนวน 48 ตู้ มูลค่า 672,893 บาท

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 กรมศุลกากร โดย สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ตรวจสอบใบขนสินค้าขาเข้า พบสินค้าที่ไม่ได้สำแดง เป็นเครื่องเล่นเกม (ตู้คีบตุ๊กตา) จำนวน 6 ตู้ มูลค่า 105,930 บาท

และเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ และกองสืบสวนและปราบปราม เข้าตรวจค้นตู้คอนเทนเนอร์ต้องสงสัย ต้นทางจากประเทศจีน สำแดงสินค้าเป็นตู้โชว์ (CUPBOARD) เมื่อทำการตรวจสอบ พบสินค้าเป็นเครื่องเล่นเกม (ตู้คีบตุ๊กตา) จำนวน 25 ตู้ มูลค่า 112,570 บาท

การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตามมาตรา 202 243 244 และ 252 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำเครื่องเล่นเกมเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2548.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password