‘รัฐไทย’ เดินเกมลึกในรอยร้าว! โชว์แยบยล…ดุล 2 ขั้วมหาอำนาจ ‘เศรษฐกิจ – การเมืองโลก’

กลายเป็น “ปมร้อน” ในทางการเมืองระหว่างประเทศ หลังจาก “รัฐบาลไทย” โชว์ความแยบยลในการเดินเกมเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศได้อย่างชาญฉลาด กับการประกาศสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกใน 2 องค์กรระดับโลก

โดยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 คณะรัฐมนตรี ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น เห็นชอบ ร่างหนังสือแสดงเจตจำนงของไทยในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาจากชาติตะวันตก และเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยการเข้าร่วม OECD จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสได้รับคำแนะนำจากชาติสมาชิกเดิม โดยเฉพาะประเด็นการปฏิรูปเศรษฐกิจ การพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการที่ทันสมัย การปฏิรูปภาษี และการจัดการการค้า ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพในการแข่งขัน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ ไทยเองก็แอบคาดหวังลึกๆ ว่า ภายใน 5 ปี จะได้เข้าร่วมสมาชิก OECD และภาคีสมาชิกของ OECD ก็ได้มีมติยอมรับให้ไทยเข้าสู่กระบวนการหารือเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเป็นสมาชิกในอนาคตแล้วเช่นกัน

OECD นับเป็นกลุ่มที่มุ่งเน้นในเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการพัฒนามาตรฐานในระดับสากล ที่ผูกโยงกับชาติตะวันตกเป็นสำคัญ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า…อยู่กันตรงกันข้ามกับอีกกลุ่มที่ชื่อ BRICS ซึ่งถือเป็นกลุ่มชาติกำลังพัฒนา ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย จีน อินเดีย และแอฟริกาใต้ (ชื่อย่อของแต่ละประเทศถูกนำไปตั้งเป็นชื่อกลุ่ม คือ BRICS)

และ “รัฐบาลไทย” ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศไทย ดำเนินการร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ BRICS โดย “ครม.เศรษฐา” เห็นชอบกับร่างหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ BRICS เริ่มจาก 5 ประเทศสมาชิก ก่อนจะต่อยอดขยายเป็น 10 ประเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 โดย 5 ประเทศที่เพิ่มเข้ามาคือ เอธิโอเปีย อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ทำให้ 10 ประเทศของ BRICS มีประชากรรวมกันมากถึง 39% ของโลก และมีผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) รวมกันมากถึง 28.4% ของโลก โดยมีมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจกว่า 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทั้งหมดของโลก 100 ล้านล้านดอลลาร์  

เหตุผลอาจแตกต่างไปจากการขอเข้าร่วมเป็น สมาชิก OECD เพราะสิ่งที่ “รัฐบาลไทย” บอกกับสังคมโลก นั่นคือ “มันเป็นประโยชน์ของไทยในการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ที่จะมีบทบาทสำคัญในระบบพหุภาคีและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ ในซีกโลกใต้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของไทย ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง โดย BRICS จะช่วยเสริมบทบาทของไทยในเวทีโลก และกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศกับบรรดาชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการค้า การลงทุน ความมั่นคงทางอาหารและทางพลังงาน”

กระทรวงการต่างประเทศของไทย ยืนยันว่า…การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เป็นเรื่องของเหตุผลทางด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ หาใช่…ภูมิรัฐศาสตร์ อย่างที่นักวิชาการและนักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตแต่อย่างใด

ล่าสุด กับการที่ ประธานกลุ่ม BRICS “เซอร์เก ลาฟรอฟ” รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ให้การต้อนรับ “มาริษ เสงี่ยมพงษ์” รัฐมนตรีต่างประเทศ ในฐานะตัวแทน “รัฐบาลไทย” ระหว่างเข้าร่วมการประชุม “สุดยอดกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16” ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22 – 24 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

กระทั่ง ไทยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 13 ประเทศที่นับเป็นหุ้นส่วนหรือเป็นพันธมิตรสำคัญของ BRICS ไปพร้อมกับเพื่อนบ้านอาเซียน อย่าง… เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึง ตุรกี คาซัคสถาน เบลารุส อุซเบกิสถาน แอลจีเรีย ไนจีเรีย ยูกันดา โบลิเวีย และคิวบา

แม้จะยังไม่ใช่สมาชิกอย่างเป็นทางการ แต่สิ่งนี้…ทำให้คนจากซีกโลกตะวันตก มีคำถามมากมายถึงเหตุผลในการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS

เมื่อครั้งที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย เข้าร่วม การประชุม “ผู้นำอาเซียน” ณ กรุงเวียงจันทร์ สปป.ลาว ราวต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ช่วงหนึ่งระหว่างการหารือใน ระดับทวิภาคี กับ ตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ ครั้งนั้น น.ส.แพทองธาร บอกถึงเหตุผลในการสมัครเข้ากระบวนการเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ของไทย กับ นายแอนโทนี เจ.บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ว่า…

…ไทยไม่ได้มีเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่เป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะไทยต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยไม่ถึง 2% และการสมัครเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะช่วยให้ไทยมีโอกาสจะขยายตลาดนับสนุนเป้าหมายเศรษฐกิจขยายตัวได้

ดูเหมือนว่า…ตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ จะเข้าใจถึงเหตุผลดังกล่าว

ไม่ว่าทางการไทยจะให้เหตุผลต่อการแสดงความจำนงเข้าร่วมเป็นสมาชิกของทั้ง OECD และ BRICS เอาไว้อย่างไร? บรรดา ชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศอียู จะตั้งคำถามถึงเหตุผลแท้จริงที่ “รัฐบาลไทย” สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS คืออะไร?

คำตอบง่ายๆ คือ ประเทศไทยจำเป็นจะต้องบริหารจัดการความสัมพันธ์ของทั้ง 2 กลุ่มให้ได้อย่างพอดีและลงตัว

สิ่งนี้…ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่มันเกิดขึ้นกับประเทศไทยมายาวนานนับร้อยๆ ปี

ประเทศไทย…ถึงได้ดำรงไว้ซึ่งความเป็น “รัฐเอกราช” ในยุคที่ ชาติมหาอำนาจตะวันตก เปิดปฏิบัติการ “ล่าอาณานิคม” หลายชาติในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติไหน?

ครั้งนี้ก็เช่นกัน “รัฐบาลไทย” จำเป็นต้องบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งมากมาย ทั้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และสงครามด้านเศรษฐกิจ!!!.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password