‘หมอประกิต’ วอนเหล่าคนดังและไม่ดัง อย่าสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าออกสื่อ หวั่นสร้างนักสูบรุ่นใหม่!

สังคมรุมประณาม “คนดังสูบบุหรี่ไฟฟ้าออกสื่อ” ด้าน “หมอประกิต วาทีสาธกกิจ” วอนอย่าสร้างแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับเด็กรุ่นใหม่ เผย! ในอดีตบริษัทบุหรี่จ้างดาราฮอลีวู้ดสูบบุหรี่ด้วยเงินก้อนโต หวังสร้าง “สื่อบุคคล” เพิ่มคนสูบและยอดขาย ชี้! หากเป็นที่สิงคโปร์ ไม่เพียงทำผิดฎหมาย แต่จะสาวลึกถึงแหล่งขายบุหรี่ไฟฟ้าด้วย วอนเลิกพฤติกรรมสูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะ

กรณีที่มีสื่อมวลชนอาวุโสท่านหนึ่ง ส่งลิงก์วิดีโอรายการทีวีที่ผู้ร่วมออกรายการท่านหนึ่งสูบบุหรี่ไฟฟ้าระหว่างการร่วมเสวนา พร้อมเขียนว่า “มีใครเตือนแกหน่อยดีมั้ยครับ” เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า “ที่ผมพูดถึงเรื่องนี้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปเตือนท่านที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าออกสื่อนะครับ เพราะท่านคนดังกล่าวอาจจะไม่ทราบเหตุผลว่า ทำไมสื่อมวลชนอาวุโสที่ส่งลิงก์มาจึงมีความ “กังวล” ที่เห็นภาพคนที่มีชื่อเสียงสูบบุหรี่ไฟฟ้าขณะออกสื่อ แต่เนื่องจากขณะนี้ บุหรี่ไฟฟ้ากำลังระบาด เข้าไปในเด็กนักเรียนเล็กลงไปถึงชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศ และฝ่ายต่างๆ พยายามช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ให้เด็กๆเข้าไปริลองจนเกิดการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า จึงมีการเรียกร้องให้ผู้ปกครอง ครู คนที่มีชื่อเสียง หรือมีตำแหน่งฐานะในสังคม ขอให้เป็นแบบอย่างที่ดีที่ไม่สูบบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า ท่านที่สูบบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า ก็ขอความกรุณาไม่สูบในที่สาธารณะ โดยเฉพาะในที่ที่มีเด็กๆ อยู่ด้วย”

ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อน ก็มีการรณรงค์ เรียกร้องให้แพทย์ที่ยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ ขออย่าสูบให้คนเห็น พร้อมกับยกความพูดของ เซอร์ จอห์น ครอฟตัน ศาสตราจารย์โรคระบบทางเดินหายใจ สก็อตแลนด์ ที่ระบุว่า… “หมอหนึ่งคนที่สูบบุหรี่ มีค่าเท่ากับบิลบอร์ดโฆษณาบุหรี่ขนาดใหญ่”  อีกทั้งยังมีหลักฐานว่า มีบริษัทบุหรี่รายใหญ่พยายามจะใช้กลยุทธ์ในการดึงเอาศิลปินดารา มาสร้างเป็น “สื่อบุคคล” เพื่อการโฆษณาและรณรงค์ส่งเสริมให้คนสูบบุหรี่ โดยจ่ายเงินให้กับพระเอกและนางเอกภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ต้องสูบบุหรี่ระหว่างออกงานสังคม และ/หรือ ระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อ รวมถึงในฉากของภาพยนตร์ที่ได้แสดง ด้วยค่าจ้างคิดเป็นเงิน 105.6 ล้านบาทตามค่าเงิน เมื่อในปี 2542

นักวิชาการบางคน มีความเห็นว่า โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่นับเป็น “โรคติดต่อทางสังคม” (ที่แตกต่างจากโรคติดต่อจากเชื้อโรค) จากการโฆษณาส่งเสริมการขายโดยบริษัทบุหรี่ ผ่านช่องทางและรูปแบบต่างๆ และ “สื่อบุคคล” ทั้งนี้ การสูบบุหรี่มวน หรือบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเปิดเผย จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม สิ่งนี้ ย่อมจะมีอิทธิพลสูงมาก ในการนำไปสู่การเกิดนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ที่เด็กๆ เริ่มสูบตามแบบอย่างผู้ใหญ่

“ต้องขอบคุณ คุณกร ทัพพะรังสี ที่คณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข (ปี 2545) ที่เป็นผู้ริเริ่มผลักดันให้มีการออก “กฎกระทรวง” ห้ามการแสดงที่มีการใช้ยาสูบ(ฉากสูบบุหรี่) ในวิทยุ-โทรทัศน์ ในปีดังกล่าว” ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระบุและว่า…

การสูบบุหรี่ไฟฟ้าให้ปรากฏในสื่อ ขณะออกสื่อสาธารณะ จึงเป็นเรื่องที่กฎหมายห้ามทำ สมควรที่จะหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้เป็นการสนับสนุน “ค่านิยมการสูบบุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในเด็กและเยาวชน ทำให้เกิดนักสูบบุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่ ที่เสพติดไปตลอดชีวิต โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งยังเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย ซึ่งในกรณีที่กำลังกล่าวถึงนี้ หากเกิดขึ้นในประเทศสิงค์โปร์ ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าออกสื่อจะมีความผิด และทางการของสิงคโปร์จะเอาผิดกับผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงขยายผลไปยังผู้จำหน่ายในลักษณะที่ว่า “คุณซื้อบุหรี่ไฟฟ้ามาจากไหน?”  

ศ.นพ.ประกิต ยังได้กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า อย่างที่ตนได้ไปแล้ว คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในลิงก์ที่ส่งมา อาจจะไม่รู้ถึงผลเสียที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าขณะออกสื่อ และเมื่อรู้แล้ว ก็คงจะไม่ทำอีก ทั้งนี้ อยากให้ทุกฝ่ายได้ช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่สังคมไทย ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่สูบบุหรี่มวน หรือบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะ รวมทั้งสูบฯให้เห็นในสื่อ และจะดีที่สุด หากไม่สูบเลย เนื่องจากตามธรรมชาติที่ “เป็นปกติ” ของสิ่งมีชีวิตนั้น ปอดจะมีไว้สำหรับการหายใจ เท่านั้น และขอย้ำว่า อะไรที่ผิดจากนี้ ถือเป็นเรื่อง “ผิดปกติ” และเป็นการฝืนหลักธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีต่อสุขภาพ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password