เผย! เกษตรกรทั่วไทย ยิ้มรับราคาผลไม้ปี’67 ดีทุกตัว! – ‘รมว.พาณิชย์’ สั่งผุดแผนเชิงรุกปีหน้า ดันราคาผลไม้ดีต่อเนื่อง
”พิชัย นริพทะพันธุ์” สั่งการกรมการค้าภายใน เตรียมมาตรการเชิงรุก! ดูแลผลไม้ปี 68 ไว้ล่วงหน้า หวังช่วยเกษตรกรขายได้ราคาดี เผย! หลังปิดฤดูกาลผลไม้ปี 2567 สุดงดงาม นับเป็นปีทองอีกปี หลังราคาพุ่งทุกรายการ ทั้ง “ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง มะม่วง ลิ้นจี่ ส้ม ส้มโอ สับปะรด ลำไย” ทำเกษตรกรไทยยิ้มได้ในทุกภาคทั่วไทย
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในได้รายงานผลการติดตามสถานการณ์ผลผลิตและราคาผลไม้ปี 2567 พบว่า ผลไม้ใกล้จะสิ้นสุดฤดูกาลแล้ว และราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง มะม่วง ลิ้นจี่ ส้ม ส้มโอ สับปะรด และลำไย ซึ่งเป็นความสำเร็จของมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2567 จำนวน 6 มาตรการ 25 แผนงาน ที่ได้เตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ก่อนที่ผลผลิตผลไม้จะออกสู่ตลาด และเมื่อตนเข้ามารับตำแหน่งได้สั่งการให้เพิ่มความเข้มข้นในการดูแล ทั้งการขยายตลาดในประเทศและการผลักดันการส่งออกสู่ตลาดใหม่ และการนำผลผลิตไปแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้ปีนี้ปิดฉากฤดูกาลผลผลิตผลไม้ได้อย่างงดงาม และถือเป็นปีทองของพี่น้องเกษตรกรอีกปีหนึ่ง ที่ขายผลผลิตได้ราคาดีและมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับ มาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2568 ตนได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเตรียมมาตรการแล้ว โดยให้จัดทำมาตรการให้พร้อมก่อนที่ผลผลิตฤดูกาลใหม่จะออกสู่ตลาด ซึ่งจะมีมาตรการทั้งส่งเสริมการผลิตและแปรรูป มาตรการส่งเสริมตลาดในประเทศ มาตรการส่งเสริมตลาดต่างประเทศ มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพทางการค้า มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า และมาตรการทางกฎหมาย โดยหากได้ข้อสรุปแล้ว จะนำมาพิจารณาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะนำมาใช้เป็นมาตรการดูแลผลไม้เชิงรุกในปี 2568 ต่อไป
ทั้งนี้ ผลไม้ภาคตะวันออก สิ้นสุดฤดูกาลแล้ว ราคาปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ โดย ทุเรียนเกรด AB ราคาเฉลี่ย 181 บาท/กิโลกรัม (กก.) เพิ่มขึ้น 21% เกรด C ราคา 131 บาท/กก. เพิ่ม 19% เกรด D ราคา 111 บาท/กก. เพิ่ม 11% มังคุด เกรดส่งออก ราคา 89 บาท/กก. เพิ่ม 46% เกรดรอง ราคา 61 บาท/กก. เพิ่ม 22% เกรดคละ 64 บาท/กก. เพิ่ม 68% ตกเกรด ราคา 25 บาท/กก. เพิ่ม 67% เงาะโรงเรียน ส่งออก ราคา 41 บาท/กก. เพิ่ม 17% เงาะโรงเรียน ในประเทศ ราคา 36 บาท/กก. เพิ่ม 29% เงาะสีทอง ส่งออก ราคา 31 บาท/กก. เพิ่ม 35% เงาะสีทอง ในประเทศ ราคา 26 บาท/กก. เพิ่ม 44% ลองกอง เบอร์ 1 ราคา 76 บาท/กก. เพิ่ม 1% เบอร์ 2 ราคา 60 บาท/กก. เพิ่ม 15% เบอร์ 3 ราคา 52 บาท/กก. เพิ่ม 4%
ผลไม้ภาคใต้ ใกล้จะสิ้นสุดฤดูกาลแล้ว โดย ทุเรียน ออกแล้ว 98.6% เกรด AB ราคาเฉลี่ย 180 บาท/กิโลกรัม (กก.) เพิ่มขึ้น 50% เกรด C ราคา 120 บาท/กก. เพิ่ม 14% เกรด D ราคา 100 บาท/กก. เพิ่ม 4% มังคุด ออกแล้ว 99.2% กลุ่มประมูล เกรดส่งออก ราคา 90.95 บาท/กก. เพิ่ม 146% เกรดรอง ราคา 69.50 บาท/กก. เพิ่ม 132% เกรดคละ 47.50 บาท/กก. เพิ่ม 90% ตกเกรด ราคา 35.50 บาท/กก. เพิ่ม 196% เงาะโรงเรียน ในประเทศ ราคา 38 บาท/กก. เพิ่ม 31% เงาะสีทอง ในประเทศ ราคา 27 บาท/กก. เพิ่ม 13% ลองกอง ออกแล้ว 93.6% เบอร์ 1 ราคา 36.50 บาท/กก. เพิ่ม 22% เบอร์ 2 ราคา 22.50 บาท/กก. เพิ่ม 13% เบอร์ 3 ราคา 8.50 บาท/กก. ลด 6%
ผลไม้ภาคเหนือ ใกล้จะสิ้นฤดูกาลเช่นเดียวกัน โดย มะม่วงจบฤดูกาลแล้ว มะม่วงน้ำดอกไม้ เกรดส่งออก ราคา 60 บาท/กก. เพิ่ม 20% เกรด A ราคา 37.50 บาท/กก. เพิ่ม 36% เกรดคละ ราคา 22.50 บาท/กก. เพิ่ม 13% มะม่วงฟ้าลั่น เบอร์ 1 ราคา 20 บาท/กก. เพิ่ม 122% คละ 12.50 บาท/กก. เพิ่ม 108% มะม่วงโชคอนันต์ เกรดตลาด 12.50 บาท/กก. เพิ่ม 56% เกรดดอง ยำ ราคา 3 บาท/กก. เพิ่ม 20% มะม่วงเขียวเสวย คละ ราคา 23.50 บาท/กก. เพิ่ม 2% มะม่วงมหาชนก คละ ราคา 21 บาท/กก. เพิ่ม 24% มะม่วงเขียวมรกต เบอร์ 1-2 ราคา 19 บาท/กก. เพิ่ม 27% คละ 12.75 บาท/กก. เพิ่ม 28% ลิ้นจี่ ฮงฮวย A ราคา 33.25 บาท/กก. เพิ่ม 19% จักรพรรดิ B ราคา 61.25 บาท/กก. เพิ่ม 36% ส้มเขียวหวาน คละ 20 บาท/กก. เพิ่ม 14% สับปะรดภูแล ออกแล้ว 91% เกรดคละ ราคา 12.50 บาท/กก. เพิ่ม 39% ส้มโอทองดี ออกแล้ว 97% เกรดสวยติดขั้ว-ใบ ราคา 14.50 บาท เพิ่ม 5% เกรดคละ ราคา 11.50 บาท เพิ่ม 4% ลำไย ช่อส่งออก AA ราคา 42 บาท/กก. เพิ่ม 29% ช่อส่งออก A ราคา 38 บาท/กก. เพิ่ม 38% รูดร่วง AA ราคา 33 บาท/กก. เพิ่ม 40% รูดร่วง A ราคา 18 บาท/กก. เพิ่ม 16% รูดร่วง B ราคา 10 บาท/กก. เพิ่ม 33% ลองกอง ออกแล้ว 73% เบอร์ 1 ราคา 37.50 บาท/กก. เพิ่ม 36% เบอร์ 3 ราคา 23.50 บาท/กก. เพิ่ม 114% .
ส่วน สถานการณ์การส่งออกผลไม้สด ในช่วง 8 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) ส่งออกได้แล้วปริมาณ 1.4 ล้านตัน มูลค่า 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 150,000 ล้านบาท โดยตลาดหลักยังคงเป็นจีน ที่มีกำลังซื้อสูงและยังมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดศักยภาพ ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และมาเลเซีย ที่มีการนำเข้าผลไม้สดจากไทยเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน.