เล่นของต่ำ! เสี่ยงสูง? ลุ้นเอากับ ‘จริยธรรม – วิญญูชน’
แกนนำ/หัวหน้าพรรคใหญ่ ยังคิดจะรับ “งูเห่า” บุคคลที่ถูกตราหน้าจากพรรคต้นสังกัดเดิมว่ามีพฤติกรรมเข้าข่าย “กระทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง” บวกกับวลีอันเป็นบรรทัดฐานใหม่ นั่นคือ “วิญญูชนควรรับรู้…” เข้าพรรคตัวเองอีกหรือ? กรณี “อดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน” น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ต้องทบทวนอย่างหนัก
ต่อเนื่องจากกรณี คณะกรรมการวินัยและจริยธรรม พรรคไทยสร้างไทย ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา “ขับ นางสุภาพร สลับศรี สส.ยโสธร ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยสร้างไทย” เป็นรายแรกจากทั้ง 6 คนที่มีพฤติกรรมในทำนองเดียวกัน หลังจากพบว่า สส.รายนี้ มีพฤติกรรมเข้าข่ายกระทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซ้ำซากหลายครั้ง ไม่สำนึกต่อจะการต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตามอุดมการณ์ของพรรคฯ
ล่าสุด มีข่าวว่า นางสุภาพร ได้ทำการเจรจาต่อสายไปยังแกนนำพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ในฝั่งรัฐบาล เพื่อขอย้ายไปสังกัดพรรคแห่งนั้น ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้เปิดช่องเอาไว้ให้…
แต่จาก คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณี นายเศรษฐา ทวีสิน แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี กระทั่ง ตัวเองถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ด้วย 2 ข้อหาฉกรรจ์ คือ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง
และเหตุผลหนึ่งที่ ศาลรัฐธรรมนูญ หยิบขึ้นมาสร้างเป็น บรรทัดฐานใหม่ ในทางการเมือง นั่นคือ วลีที่ว่า… “วิญญูชนควรรับรู้…”
เมื่อนำ 2 เรื่องมาขมวดรวมไว้ด้วยกัน จึงมีประเด็นคำถามจาก “ทีมข่าวยุทธศาสตร์ออนไลน์” ว่า…การที่ แกนนำ หรือแม้กระทั่ง หัวหน้าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ที่ว่านี้ จะรับเอา นางสุภาพร ผู้ที่ถูกพรรคต้นสังกัดเดิม ชี้ชัดว่าเป็น “ผู้มีพฤติกรรมเข้าข่ายกระทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซ้ำซากหลายครั้ง ไม่สำนึกต่อจะการต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตามอุดมการณ์ของพรรคฯ” นั้น
จะเข้าข่ายผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามมาด้วยหรือไม่?
ที่สำคัญ…เมื่อมีคำว่า “วิญญูชนควรรับรู้…” มาประกอบ Story การเมือง ในห้วงเวลานี้ด้วยแล้ว
มันจะเป็นความเสี่ยงต่อพรรคการเมืองที่ถูกพาดพิงถึงว่าจะเปิดรับ “สมาชิกใหม่” ที่เพิ่งถูกขับออกจากพรรคเก่าหรือไม่? อย่างไร?
นั่นเพราะ สังคมไทย ที่เต็มไปด้วย “วิญญูชน” ล้วนพึงรับรู้อยู่แล้วว่าบุคคลผู้นั้น…ไร้ซึ่งจริยธรรมในทางการเมือง? และมีการกระทำที่ขัดต่อกฎระเบียบที่พรรคการเมืองต้นสังกัดกำหนดเอาไว้แค่ไหน?
ฉะนั้น หากอยากจะ “เล่นของต่ำ” ทั้งที่รู้ว่า “เสี่ยง?” ก็ลองดู!!!
หากมีผู้ร้อง และ ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง กระทั่ง มีคำวินิจฉัยออกมา ไม่ในลักษณะเดียวกับ อดีตนายกฯเศรษฐา กล่าวคือ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง เหตุเพราะกระทำผิด ในสิ่งที่ “วิญญูชนควรรับรู้…” อยู่แล้ว
ถึงตอนนั้น คงเป็น ภาคอวสานถาวร ของบรรดา “งูเห่าการเมือง”.