‘เผ่าภูมิ’ ย้ำ! นโยบายดอกเบี้ยไทยควรสอดคล้อง ศก.โลก ให้อิสระ ‘แบงก์ชาติ’ กำหนด

“เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลัง ย้ำนโยบายดอกเบี้ยไทยควรสอดคล้อง เศรษฐกิจโลก หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดลง 0.50 % ให้อิสระ ธปท.กำหนด แต่ควรหารือร่วมกับ กระทรวงคลังด้วย
วันที่ 19 ก.ย.67 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกน่าจะเริ่มเข้าสู่ช่วงขาลง หลังจากที่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลง 0.5% จาก 5.30% ต่อปี เหลือ 4.80% ต่อปี โดยเป็นการปรับลดครั้งใหญ่ในรอบกว่า 4 ปี ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น มองว่า จำเป็นต้องดำเนินการให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจโลก ตลอดจนทิศทางนโยบายการเงินของโลกด้วย

สำหรับการพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น เป็นหน้าที่โดยตรงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีอิสระในเรื่องการกำหนดทิศทางดอกเบี้ย ส่วนจะต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือข้อคิดเห็นระหว่างกระทรวงการคลังกับ ธปท.หรือไม่นั้น โดยส่วนตัวมองว่า มีความจำเป็นที่จะต้องพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้ผลลัพธ์ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมที่สุด

“แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะภาคการผลิต ที่เริ่มเห็นสัญญาณบวกหลังจากติดลบหนักหลายเดือน และภาคการบริโภคที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ แต่สิ่งที่คลังอยากเห็นคือ โมเมนตัมทางเศรษฐกิจที่จะเป็นแรงส่ง เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัว ดังนั้นนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง จำเป็นจะต้องทำงานสอดคล้องกันด้วย” รมช.คลังกล่าว

เมื่อถามว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานั้น นายเผ่าภูมิกล่าวว่า มีผลกระทบโดยตรงกับภาคส่งออก ดังนั้นการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้อ่อนค่าเกินไป หรือแข็งค่าเกินไป รวมถึงต้องไม่ผันผวนขึ้นลงเร็วเกินไป จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะค่าเงินที่ผันผวนมาก ทำให้ผู้ส่งออกวางแผนธุรกิจได้ยาก ที่ผ่านมาจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปถึง 36-37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และก็กลับมาแข็งค่าไปจนถึงระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ช่องว่างตรงนี้กว้างเกินไป ดังนั้นการดูแลเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะค่าเงินที่ผันผวนจนเกินไปจะส่งผลให้ผู้ส่งออกวางแผนธุรกิจได้ยาก.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password