สรรพสามิตปักหมุด ‘จยย.ไฟฟ้า’ เจ้าแรกร่วมมาตรการหนุนจากรัฐ

สรรพสามิตได้ จยย.ไฟฟ้ารายแรกจากไต้หวัน ร่วมมาตรการ “หนุนใช้รถไฟฟ้า” แล้ว ด้าน อธิบดี “ลวรณ” ย้ำชัด! ไม่ตีกรอบสัดส่วนชิงเงินอุดหนุน แนะ! รถไฟฟ้า-จยย.ไฟฟ้า รายไหนพร้อม ร่วมมาตรการได้เลย ขณะที่ บิ๊กเอกชน ระบุ! หลังทดสอบสมรรถภาพตัวรถ พร้อมเริ่มทำตลาดในไทยครึ่งปีหลัง ตั้งเป้าขายที่ 1.2 หมื่นคัน เชื่อเงินอุดหนุนจากภาครัฐมีส่วนกระตุ้นยอดขาย มั่นใจเทคโนฯขั้นสูง ไม่ก่อปัญหาไฟไหมรถแน่

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวภายหลัง พิธีลงนามข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าร่วมกับ บริษัท เดโก กรีน เอนเนอร์จี จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจประกอบ ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ BEV ทั้งภายในประเทศและส่งออก ว่า เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเสนอ โดยผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการฯ จะได้สิทธิประโยชน์จากภาษีสรรพสามิตอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 1 และเงินอุดหนุนจำนวน 18,000 บาทต่อคัน สำหรับการนำเข้ารถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ในปี 2565 – 2566 และผลิตรถจักรยานยนต์ BEV ในปี 2565 – 2568 โดยรถจักรยานยนต์ BEV ที่เข้าร่วมมาตรการฯ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. ต้องเป็นแบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออน 2. มีความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 KWh ขึ้นไป หรือมีระยะทางที่วิ่งได้ตั้งแต่ 75 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ตามมาตรฐาน WMTC (World Motorcycle Test Cycle) ตั้งแต่ Class 1 ขึ้นไป 3. ต้องใช้ยางล้อที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานเลขที่ มอก. 2720-2560 (UN Reg.75) หรือที่สูงกว่า (UN Reg.75) และ 4. ต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม เลขที่ มอก. 2952-2561 (UN Reg.136) หรือที่สูงกว่า

ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวถือเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ BEV รายแรกที่เข้าร่วมมาตรการฯ  โดย มีความประสงค์ผลิตรถจักรยานยนต์ BEV  ในประเทศและขอรับสิทธิจำนวน 8 รุ่น ได้แก่ HANNAH , SOFIA , LUCIANO, SUSU, SUPERACE, DOUBLEACE, G-FIVE, และ TAITAN โดยวางแผนผลิตรถจักรยานยนต์ BEV ในปี 2565 จำนวน 32,000 คัน ปี 2566 จำนวน 38,400 คัน ปี 2567 จำนวน 46,400 คัน และปี 2568 จำนวน 56,000 คัน ตามลำดับ

จากการที่รัฐบาลมีมาตรการฯ ดังกล่าว ขณะนี้มีผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์ จำนวน 4 ราย และรถจักรยานยนต์ จำนวน 1 ราย ที่เข้าร่วม ลงนามกับกรมสรรพสามิตแล้ว โดยคาดว่าจะมีผู้สนใจทยอยเข้าร่วมลงนามเพิ่มขึ้นอีกในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งจะส่งผลให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ BEV มีราคาลดลงและสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และช่วยส่งผลดีต่อการลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ” อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวและว่า

สำหรับ เงินอุดหนุนจากภาครัฐจำนวน 3,000 บาทในปีนี้ เชื่อว่าจะเพียงพอกับความต้องซื้อยานยนต์ไฟฟ้าของคนไทย ซึ่งในปีต่อๆ ไป คณะรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงการคลังและสำนักงานงบประมาณไปจัดมาเพื่อสนับสนุนมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ กรมฯไม่ได้แบ่งสัดส่วนเงินอุดหนุนระหว่างรถยนต์ไฟฟ้าและจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยเปิดโอกาสผู้ซื้อฯตัดสินใจเลือกซื้อ ภายใต้เงื่อนไขเงินอุดหนุนที่มี โดยผู้ประกอบ ผลิต และจำหน่ายจะต้องลงนามกับกรมฯก่อน จึงได้รับเงินอุดหนุนและมาตรการทางภาษีได้

ด้าน นายกฤตเมธ ตั้งพิชญโพธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เดโก้ กรีน เอนเนอร์จี จำกัด กล่าวว่า หลังจากบริษัทฯทำข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตแล้ว จากนี้จะเป็นการขั้นตอนของการทดสอบประสิทธิภาพของรถจักรยานยนต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนหน้า เพื่อจะได้มีเวลาในการทำการตลาดและจัดจำหน่าย โดยบริษัทฯมีแผนจะจำหน่ายผ่านสาขาทั่วประเทศกว่า 300 แห่ง กำหนดราคาขายตั้งแต่ 50,000 – 100,000 บาทขึ้นไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ขนาดของเครื่องยนต์ คาดว่าจะจำหน่ายได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 คันต่อเดือน ซึ่งจะทำให้ครึ่งปีหลักสามารถจำหน่ายได้ราว 12,000 คัน โดยเงินอุดหนุนที่ภาครัฐมีให้ที่ 18,000 บาทต่อคันนั้น บริษัทฯจะนำไปเป็นส่วนลดในการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของบริษัททุกรุ่น

ส่วนที่หลายฝ่ายเป็นกังวลเกี่ยวกับปัญหาไฟไหม้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และแบตเตอรี่ ทั้งในระหว่างการใช้งานและระหว่างชาร์จไฟฟ้า โดยเฉพาะในประเทศไทยมีอากาศร้อนนั้น บริษัทฯยืนยันว่า รถจักรยานยนต์และแบตเตอรี่ของบริษัทฯ ใช้เทคโนโลยีจากประเทศไต้หวัน ซึ่งมีประสบการณ์ตรงมากกว่า 20 ปี มีมาตรฐานคุณภาพ UNR 136 ที่ได้รับการยอมในกลุ่มประเทศยุโรป จะไม่สร้างปัญหาดังกล่าวอย่างแน่นอน

ขณะที่ นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะ โฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวเสริมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะปัญหาเพลิงไหม้นั้น เชื่อว่าเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก เนื่องจากผู้ผลิตทุกรายต่างยึดมาตรฐานการผลิตจากองค์กรระดับสากลเพื่อสร้างยานยนต์ที่มีมาตรฐานคุณภาพสูงมากพอรองรับความต้องการใช้งานของผู้บริโภค โดยเฉพาะมาตรฐาน UNR 136 ที่ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทุกรายจะต้องมี ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการนำมาใช้งานได้.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password