ดันระบบ PCS แพลตฟอร์มกลางโลจิสติกส์ ‘ค้าขายทางทะเล’ เชื่อมไทย-ตลาดโลก
คมนาคมส่ง “ที่ปรึกษาฯ ทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์” เปิดประชุม Workshop ระบบ PCS เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของไทย เผย! ระบบนี้ทำหน้าที่ Platform กลาง แลกเปลี่ยนข้อมูลการขนส่งสินค้า มั่นใจ! อนาคตอันใกล้ พาไทยเชื่อมระบบ PCS ของอาเซียน เอเชีย ยันภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก แลกเปลี่ยนข้อมูลขนส่งสินค้าทางทะเลรวดเร็ว ช่วยธุรกิจไทยเข้าถึงข้อมูลการขนส่งสินค้าในตลาดโลก วางแผนดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดเวลาการรอเรือสินค้า กระจายสินค้าได้รวดเร็วขึ้น
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานประชุม Workshop ระบบ Port Community System (PCS) เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย โดยมี นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการการเดินเรือ เข้าร่วมงานฯ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบังในปีที่ผ่านมา รวมกว่า 112 ล้านตัน ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2565 และแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการขนส่งสินค้าทางทะเลของโลกที่จะมีการใช้เรือขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถบรรจุตู้สินค้าได้มากขึ้น ซึ่ง กทท. กำลังขยายท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ และจะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่การเป็น Smart Port
ทั้งนี้ กทท. ได้พัฒนาระบบ PCS เพื่อเป็น Platform กลางของการขนส่งสินค้าผ่านท่าเทียบเรือของไทย บูรณาการข้อมูลด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ และเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายการขนส่ง (Intermodal Transport) ทุกรูปแบบ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบริการของ กทท. ไปสู่การเป็นท่าเรือมาตรฐานระดับสากล (World Class Port)
นอกจากนี้ ระบบ PCS ยังมีการเชื่อมโยงกับระบบ National Single Window (NSW) ทำให้ขั้นตอนการดำเนินงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว ลดปริมาณงานด้านเอกสาร (Paper Work) สามารถติดตามสถานะสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง และนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนทำงานล่วงหน้าได้อย่างถูกต้อง ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย อันเป็นการลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย การเริ่มต้นระบบ PCS ในวันนี้จะเป็นก้าวสำคัญสำหรับโอกาสใหม่ ๆ ของธุรกิจไทย ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ สนับสนุนการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดโลก พัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้านำไปสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น
ด้าน นายเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบ PCS ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้การขนส่งสินค้าผ่านท่าเทียบเรือมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงาน ประกอบด้วย 7 โมดูล คือ ระบบสำหรับกิจกรรมบนเรือ (Vessel) ระบบสำหรับกิจกรรมนำเข้า (Import) ระบบสำหรับกิจกรรมส่งออก (Export) ระบบสำหรับกิจกรรมศุลกากร (Customs) ระบบสำหรับกิจกรรมทางด้านตู้และสินค้า (Container & Cargo) ระบบสำหรับกิจกรรมการขนส่งด้านหลังท่า (Hinterland) และ ระบบสำหรับข้อมูลทางธุรกิจอัจฉริยะ (PCS Intelligence)
ซึ่ง ระบบ PCS จะทำหน้าที่เป็น Platform กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมการขนส่งสินค้าของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาคเอกชน อาทิเช่น ผู้ประกอบการสายเรือ ผู้ประกอบการ Terminal ผู้นำเข้า – ส่งออก ผู้ประกอบการคลังสินค้า ผู้ประกอบการรถบรรทุก เป็นต้น
ทั้งนี้ ในอนาคตระบบ PCS ของประเทศไทย จะมีการเชื่อมต่อกับระบบ PCS ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ภูมิภาคเอเชีย รวมไปถึงภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งการเชื่อมโยงกับระบบ PCS สากล จะทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการไทยจะสามารถเข้าถึงข้อมูลการขนส่งสินค้าในตลาดโลกทำให้การวางแผนการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาการรอเรือสินค้าบริหารคลังสินค้าและการกระจายสินค้าได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น.