บสย. เปิดตัวโครงการ TCG Internal Hackathon ชวนพนักงานรวมพลัง ยกระดับสู่ ‘องค์กรแห่งนวัตกรรม’
บสย. ประกาศเปิดตัวโครงการ “TCG Internal Hackathon” ในงานประชุมพนักงานทุกระดับครั้งที่ 2/2567 ชวนพนักงานทุกคน ร่วมประกวดไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ ดึงพลังคนรุ่นใหม่ ร่วมพัฒนาต่อยอดองค์กร สร้างความพึงพอใจลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยกระดับ บสย. ก้าวสู่ “องค์กรแห่งนวัตกรรม” เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ประกาศเปิดตัวโครงการ “TCG Internal Hackathon” ยกระดับ บสย. สู่องค์กรแห่งนวัตกรรม ใน งานประชุมพนักงานทุกระดับ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 (The 2nd Town Hall Meeting 2024) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “TCG Smart Gens” สนับสนุนพนักงาน บสย. กล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง (Think Innovatively) รวมพลังความคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมองค์กรเพื่อขับเคลื่อน บสย. สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ณ The Society อาคารเกษรทาวเวอร์ ชั้น 22 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567
โครงการ “TCG Internal Hackathon” เป็นการจัดประกวดนวัตกรรม เชิญชวนพนักงาน บสย. ร่วมกิจกรรมในรูปแบบทีมๆ ละ 3-5 คน โดยเน้นให้แต่ละทีมมีการผสมผสานของแต่ละเจเนอเรชั่น เพื่อผนึกพลังความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ และความเชี่ยวชาญจากรุ่นพี่ผู้มากประสบการณ์ ร่วมนำเสนอไอเดียเพื่อสร้าง “นวัตกรรมองค์กร” โดยแบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การส่งเสริมธุรกิจ (Business Development) และการพัฒนากระบวนการ (Process Improvement) ระยะเวลาตั้งแต่เดือนสิงหาคม – พฤศจิกายน 2567 ผู้ชนะอันดับที่ 1-3 จะได้รับรางวัลในงาน KM & Innovation Day 2024 เวทีต่อยอดความรู้สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมองค์กรของ บสย. ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้
เป้าหมายโครงการนี้ มุ่งจุดประกายไอเดียใหม่ๆ ตลอดจนพัฒนาต่อยอด และขยายผล เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมในการสร้างและขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดขึ้นภายในองค์กร โดยเปิดรับไอเดียของคนรุ่นใหม่ พร้อมสรรหาผู้เชี่ยวชาญจากภายในและแวดวงต่างๆ ภายนอกองค์กร มาช่วยแนะนำในการแปลงไอเดียต่างๆ ให้เป็นนวัตกรรม ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบการทำงานภายใน การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับความพึงพอใจของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สู่การขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาวเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
นายสิทธิกร กล่าวว่า ท่ามกลางความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ และพันธกิจในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย.การคิดค้นนวัตกรรม ด้วยการผสานพลังคนรุ่นใหม่ รวมถึงประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ จะเป็นหัวใจสำคัญที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา รวมถึงช่วยต่อยอดความสำเร็จของ บสย. เพื่อพิชิตเป้าหมายองค์กรในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ ผ่านกลไกค้ำประกันของ บสย. พร้อมพัฒนา บสย. สู่บทบาทการเป็น Credit Mediator ภายในปี 2568-2569
นอกจากนี้ ภายใต้โครงการประกวดนวัตกรรม “TCG Internal Hackathon” ยังตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี ภายใต้ SMEs Digital Gateway ที่มุ่งขยายบทบาทการค้ำประกันผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อเชื่อมโยง บสย. กับสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการแต่ละ Platform ช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น สะดวกขึ้นผ่านระบบ Online จากการเปิดให้บริการ LINE OA : @tcgfirst ของ บสย. ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้ามาตรวจสุขภาพทางการเงิน พร้อมจองคิวขอรับคำปรึกษาทางการเงิน ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
“บสย. ต้องการเพิ่มสมรรถนะองค์กรเชิงรุกด้วยพลังคนรุ่นใหม่ เพื่อทำให้เป้าหมายสู่การเป็น SMEs Digital Gateway ประสบผลสำเร็จอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยพลังทีมงานและเพื่อนพนักงานที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่มีพลัง และผู้บริหารทุกฝ่ายงานที่ร่วมกันก้าวข้ามความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยรอบด้าน” นายสิทธิกร กล่าว
ภายในงานยังได้มีการประกาศผลดำเนินงาน บสย. ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. – ก.ค. 2567) มียอดอนุมัติค้ำประกัน 21,221 ล้านบาท สามารถช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ 49,247 ราย ในส่วนของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” ซึ่งได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา คาดการณ์ ณ สิ้นเดือน ส.ค. จะมียอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อกว่า 3,000 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อกว่า 1,000 ราย ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี สะท้อนให้เห็นถึงการตอบรับจากสถาบันการเงินที่พร้อมปล่อยสินเชื่อ ภายใต้การค้ำประกันของ บสย. ทั้งสะท้อนถึงความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs ในภาวะเศรษฐกิจผันผวน ที่ต้องการเสริมสภาพคล่องด้วยสินเชื่อต้นทุนต่ำ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการพลิกฟื้นธุรกิจ
ส่วนทิศทางในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ บสย. ยังคงมุ่งมั่นสานต่อภารกิจ ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. ช่วยเติมทุน เสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถปรับตัว และต่อยอดธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน.