กรมเจ้าท่าเร่งขจัด ‘ผักตบชวา’ รุกผืนน้ำเจ้าพระยา ‘สร้างสัญจรทางน้ำสะดวก – ลดปมชาวบ้านเดือนร้อน’
รชม.คมนาคม กำชับกรมเจ้าท่า เร่งจัดเก็บผักตบชวาและวัชพืชที่ขยายพันธุ์รวดเร็วในฤดูฝน หวังเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพิ่มพื้นที่รับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงขจัดสิ่งกีดขวางการสัญจรทางน้ำ เผย! ผลงานถึงสิ้น ก.ค.2567 กำจัดแล้วกว่า 2.1 แสนตัน
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการที่ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาผักตบชวาที่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในช่วงฤดูฝน พบว่ามีปริมาณผักตบชวาหนาแน่นมากตามแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ กระทั่ง กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินเรือและการระบายน้ำ ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้ กรมเจ้าท่า โดยสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 1 เร่งกำจัดผักตบชวาและวัชพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณ แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการสัญจรทางน้ำเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และเตรียมความพร้อมในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค อีกทั้ง ยังได้มอบหมายให้ กรมเจ้าท่า เร่งการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชบริเวณแม่น้ำน้อย แม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยผลงานที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 สามารถกำจัดผักตบชวาได้มากถึง 210,854 ตัน หรือคิดเป็นผลงานร้อยละ 44.20
พร้อมกันนี้ ยังได้กำชับสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 หน่วยปฏิบัติงานขุดลอกลำน้ำหงาว ตำบลหงาว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เร่งดำเนินการขุดลอกร่องน้ำ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก การอุปโภค บริโภค และการเกษตรลดปัญหาน้ำท่วม และการกัดเซาะตลิ่ง โดยใช้รถขุด ชม.8 และรถขุด ชม.12 ความกว้างก้นร่องน้ำ 15 – 30 เมตร ระยะทาง 4,500 เมตร ปริมาณวัสดุขุดลอก 46, 870 ลูกบาศก์เมตร ผลที่คาดว่าจะได้รับหลังการขุดลอก เพิ่มพื้นที่หน้าตัด ของร่องน้ำ โดยมีประชาชนในพื้นที่ตำบลหงาว ได้รับประโยชน์จากการขุดลอก ประมาณ 1,243 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตร ประมาณ 3,757 ไร่
ด้าน นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการตามภารกิจของกรมฯ โดยขุดลอกและพัฒนาบำรุงรักษาร่องน้ำทางเรือเดิน เพื่อช่วยระบายน้ำในฤดูน้ำหลากและกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ว เป็นการป้องกันภัยแล้งและอุทกภัย การส่งเสริมการท่องเที่ยว การเพิ่มรายได้และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน โดยนำนโยบายของกระทรวงคมนาคม ภายใต้โครงการ “ราชรถยิ้ม” ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นางมนพร เจริญศรี) มาขยายผลสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการถ่ายทอดนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมสู่การปฏิบัติ อันจะช่วยยกระดับภาคการคมนาคมขนส่งทางน้ำของประเทศ ให้เกิดความสะดวก ประหยัด ปลอดภัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และครอบคุลมทุกความต้องการของประชาชน สมดั่งคำว่า “คมนาคมทางน้ำ เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” “เจ้าท่า เพื่อประชาชน”
อนึ่ง หากพบเห็นเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยทางน้ำ โทร.สายด่วนกรมเจ้าท่า 1199 ตลอด 24 ชั่วโมง.