ผนึกสร้าง ‘นับรบส่งออกสินค้าฮาลาล – ไทย’ เจาะตลาดโลกอิสลาม 2.1 ล.ล.ดอลลาร์

“ธนาคารอิสลาม – EXIM BANK” ผนึกองค์กรมุสลิมในไทย ร่วมสร้าง “นักรบส่งออกสินค้าฮาลาล” ให้มีมากขึ้น เผย! ไทยมีผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลแค่หลักพันราย เทียบไม่ได้กับไซส์ของตลาดโลกอิสลามที่มีกำลังซื้อทั่วโลกมากกว่า 2 พันล้านคน ใช้จ่ายเงินแต่ละปีมากกว่า 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ ด้าน “ดร.รักษ์” หวังดันยอดส่งออกสินค้าฮาลาลปีนี้เพิ่มอีก 1 เท่าตัว

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการธนาคารอิสลาม เปิดเผยภายหลัง พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลสู่การส่งออก ว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดสินค้าฮาลาลในระดับโลก หรือ “ฮาลาล อีโคโนมี” มีอัตราการเติบโตที่สูง กำลังซื้อทั้งในแง่ของประชากรมุสลิมทั่วโลกและเม็ดเงินในการใช้จ่ายสินค้าก็มีสูงมาก หลายบริษัทข้ามชาติชั้นนำของโลกหลายแห่ง โดยเฉพาะ กลุ่มเนสท์เล่ท์ ต่างหันมาให้ความสำคัญและให้ความสนใจรุกเปิดตลาดในโลกมุสลิมอย่างมาก ขณะที่ รัฐบาลไทย เอง ก็ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าฮาลาลเช่นกัน ซึ่งการลงนามฯของผู้เกี่ยวข้องในวันนี้ นับเป็น “มิติใหม่โอกาสของฮาลาลไทย” ที่จะมีส่วนร่วมสำคัญในการสร้าง “นักรบส่งออกสินค้าฮาลาล” ให้มีเพิ่มมากยิ่งขึ้น  

“ในจังหวะที่ยังมีความท้าทายในสถานการณ์โลกปัจจุบัน พบว่าสินค้าไทยยังมีจุดแข็งและความได้เปรียบโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารและเกษตร ซึ่งธนาคารฯได้ร่วมมือกับ ธนาคารส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มนี้ นับแต่ปีผ่านมา โดยธนาคารฯจะสนับสนุนเรื่องเงินทุนผ่านสินเชื่อชะรีอะฮ์ให้กับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ขณะที่ EXIM BANK ดูแลและให้คำปรึกษาด้านการส่งออก ซึ่งเป็นตัวอย่างของความร่วมมือที่ดี อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าฮาลาลของไทยไปยังกลุ่มประเทศมุสลิมได้มากยิ่งขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา ธนาคารฯปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ไปแล้วราว 1,500 ล้านบาท สามารถส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังตลาดต่างประเทศได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท” นายทวีลาภ ย้ำและว่า…

นอกจากนี้ การได้รับความร่วมมือจาก คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งดูแลรับผิดชอบ เครื่องหมายฮาลาล จะยิ่งทำให้เพิ่มการยอมรับมากยิ่งขึ้น ทั้งในระดับผู้ประกอบการของไทยและในระดับนานาชาติ โดยในเดือนหน้า (ก.ย.) นี้ จะมีผู้แทนของ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เดินทางไปเชื่อมความสัมพันธ์และสร้างการยอมรับในเครื่องหมายฮาลาลในเวทีนานาชาติที่ประเทศจีน

ด้าน ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวถึงสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยในปัจจุบัน พบว่า ตลาดของประเทศคู่ค้าหลักเดิมของไทย ไม่ว่าจะเป็นตลาดอเมริกาเหนือ สหภาพยุโรป หรือตลาดในประเทสเอเชีย ต่างตกอยู่ในภาวะถดถอย และมีอัตราการเติบโตเพียง 3% ขณะเดียวกันตลาดในกลุ่มประเทศมุสลิมที่มีประชากรทั่วโลกรวมกันกว่า 2,000 ล้านคน และมีกำลังซื้อรวมกันราว 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 5 เท่าของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย โดยมีการเติบโตราว 7% หรือราว 2 เท่าตัวของตลาดคู่ค้าหลักเดิม โดยจำนวนนี้เป็นสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมากถึงกว่า 60% นับเป็นโอกาสที่ดีและถือเป็นทางรอดของผู้ประกอบการไทยที่ต้องเปิดใจหันมาทำตลาดกับประเทศมุสลิม

“ในจำนวนผู้ส่งออกทั้งระบบของไทยที่มีราว 30,000 รายนั้น มีเพียงไม่ถึง 10% ที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าฮาลาล นั่นหมายความว่า หากเทียบสัดส่วนของผู้ส่งออกและมูลค่าการส่งออกสินค้าฮาลาลของไทย กับมูลค่าตลาดรวมของชาติมุสลิมทั่วโลกแล้ว พบว่ายังมีช่องว่างของโอกาสในการส่งออกสินค้าฮาลาลอีกมาก นอกจากสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มแล้ว สินค้าตัวอื่นๆ โดยเฉพาะเครื่องสำอาง เสื้อผ้าแฟชั่น (มุสลิม) ฯลฯ รวมถึงสินค้าที่จะรองรับภาคการท่องเที่ยวของไทย ก็ยังมีโอกาสที่ดีที่จะรองรับตลาดในโลกมุสลิม ขอเพียงผู้ประกอบการไทยเรียนรู้ที่จะเปิดมุมมองใหม่ๆ ปรับตัวให้เข้าใกล้ชิดกับโลกมุสลิมมากขึ้น” กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวและคาดหวังว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือและช่วยเหลือกันแล้ว โอกาสที่ปีนี้ จะเพิ่มสัดส่วนของการส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังโลกมุสลิมเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัวก็มีสูงเช่นกัน

ด้าน พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจะส่งออกสินค้าไปขายยังกลุ่มประเทศอาหรับได้ จะต้องไปขึ้นทะเบียนรับรองตลาดฮาลาลกับรัฐบาลของซาอุดิอาระเบีย และต้องชำระเงินเป็นค่าสมัครขึ้นทะเบียนราว 5 ล้านบาท ซึ่ง คณะกรรมการกลางอิสลามฯ จำเป็นจะต้องดำเนินการ เพื่อปูทางให้สินค้าฮาลาลของไทยสามารถส่งออกไปจำหน่ายในโลกมุสลิมให้ได้ โดยปัจจุบันพบว่า มีสินค้ามากกว่า 170,000 ผลิตภัณฑ์ และมีบริษัทราว 7,000-8,000 แห่งที่มาขึ้นทะเบียนตราสินค้าฮาลาลกับทางคณะกรรมการกลางอิสลามฯ

“นอกจากเราจะส่งตัวแทนไปสร้างความสัมพันธ์อันดีและสร้างการยอมรับในตราสินค้าฮาลาลของไทยที่ประเทศจีนแล้ว รัฐบาลของกัมพูชาและสปป.ลาว ก็ขอให้เราไปช่วยรับรองสินค้าฮาลาล เนื่องจากตราสินค้าฮาลาลของพวกเขา ไม่ได้รับการยอมรับจากโลกมุสลิม จึงต้องหันมาใช้ตราสินค้าฮาลาลของไทย” พล.ต.ต.สุรินทร์ ย้ำ

อนึ่ง เมื่อช่วงสายวันที่ 6 สิงหาคม 2567 ณ ณ โรงแรมอัล มีรอซ กรุงเทพฯ, ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK  ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ibank พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นายสมัย เจริญช่าง กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร นายไพศาล พรหมยงค์ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการ นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา ที่ปรึกษาสถาบันอาหาร นายพิตรพิบูล ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลสู่การส่งออก”

โดยมี ผู้แทนจุฬาราชมนตรี นายประสิทธิ์ มะหะหมัด เลขานุการจุฬาราชมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้สามารถส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังตลาดต่างประเทศได้ ผ่านการบูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการด้านฮาลาล ทิศทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในโลกยุคใหม่ การเข้าถึงการขอเครื่องหมายรับรองมาตรฐานฮาลาล การขยายโอกาสทางการค้าผ่านกิจกรรมจับคู่ธุรกิจและการออกงานแสดงสินค้าในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเครื่องมือทางการเงินเพื่อเสริมศักยภาพของธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ.

.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password