‘รมช.คมนาคม’ บริหารเชิงกลยุทธ์ ‘อัพเกรด รฟท.’ หนุนไทยสู่ศูนย์กลาง ‘อาเซียน-จีนตอนใต้’

รมช.คมนาคม “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” อิงข้อมูลสถิติ “ยกเครื่อง” รฟท. ตั้งเป้าลดขาดทุน เผย! ขยายเวลาจองตั๋วรถไฟใหม่ สอดรับพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวไทย-ต่างชาติ มั่นใจ! รถไฟรางคู่ ช่วยดึงการขนส่งมายังระบบรางมากขึ้น แถมช่วยยกระดับการแข่งขันของประเทศ คาด! ระบบรางคู่กระจายทั่วไทยในปี 2570 ชี้! รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะหนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางเดินทางและขนส่งของภูมิภาคนี้เชื่อมจีนตอนใต้ พร้อมเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าจีนผ่านมหาสมุทรอินเดีย

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนได้สั่งการให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานใหม่ โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติในช่วงที่ผ่านมา หลังจากพบว่าในแต่ละปี รฟท.ได้จัดสรรที่นั่งในขบวนรถไฟ แยกเป็นที่นั่ง (seats) เชิงพาณิชย์จำนวน 9.1 ล้านที่นั่ง และจัดสรรที่นั่งเชิงสังคมอีกราว 26.7 ล้านที่นั่ง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสถิติพบว่า ในแต่ละปีมีผู้ใช้บริการที่นั่งเชิงสังคมเพียง 8-9 ล้านที่นั่ง ขณะที่ที่นั่งเชิงพาณิชย์ยังมีความต้องการเพิ่มในสัดส่วนเดียวกัน แต่ไม่สามารถจองได้เนื่องจากที่นั่งมีจำกัด ดังนั้น จึงให้ รฟท. ปรับจำนวนที่นั่งเชิงสังคมให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง พร้อมทั้งยกระดับที่นั่งในรถไฟขบวนชั้น 3 เป็นชั้น 2 โดยยังคงคิดราคาค่าโดยสารเท่ากับที่นั่งในชั้น 3 ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารในเชิงสังคม

“จากข้อมูลตัวเลขการจองซื้อตั๋วที่นั่งเชิงพาณิชย์ ผ่านช่องออนไลน์พบว่า ยังมีความต้องการสูงใกล้เคียงกับตัวเลขที่นั่งในเชิงสังคมที่ไม่มีคนใช้ ราว 8-9 ล้านที่นั่ง โดยกำชับให้ รฟท. ทำการขยายเวลาการจองซื้อตั๋วฯล่วงหน้าจากเดิม 90 วัน เป็น 6 เดือน และในอนาคตอันใกล้จะขยายการจองซื้อตั๋วฯล่วงหน้าเป็น 1 ปี สอดรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มักจะวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวล่วงหน้านานเป็นปี โดยยึดแนวทางการจองฯ “หนึ่งไอดีบัตรประชาชน (หนังสือเดินทาง) ต่อหนึ่งตั๋วเดินทาง” โดยผู้จองจะต้องชำระเงินล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้ รฟท.มีรายได้จากส่วนนี้เพิ่มขึ้น” รมช. คมนาคม ระบุ

สำหรับการบริหารจัดการรถไฟ โดยใช้กลยุทธ์ราคานั้น มีตัวอย่างความสำเร็จของรถไฟสายสีแดง ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคมได้ปรับลดค่าโดยสารเหลือเพียง 20 บาทตลอดสาย ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารจากปกติที่มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยประมาณวันละ 20,000 คน จากจำนวนที่นั่งเต็มราว 80,000 คน เพิ่มเป็นกว่า 30,000 คน และลดผลการขาดในแต่ละวันจนเหลือไม่ถึง 7% ของต้นทุนดำเนินการ ซึ่งหากในอนาคตมีประชาชนมาใช้บริการเพิ่มยิ่งขึ้น ก็จะเปลี่ยนจากผลขาดเป็นกำไรได้ในไม่ช้า

รมช.คมนาคม กล่าวยังกล่าวอีกว่า หลังจากที่ รฟท.ได้ขยายเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ เป็นระบบรางคู่ได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว ทำให้การเดินทางโดยรถไฟได้ทำง่าย สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และใช้เวลาเดินทางน้อยลง เชื่อว่าอีกไม่นานการขนส่งทั้งคนและสิ่งของ โดยเฉพาะสินค้าที่มีน้ำหนักมาก จะเปลี่ยนมาใช้ระบบราง (รถไฟ) มากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่าทางถนน (รถยนต์) อีกทั้ง ยังจะทำให้การแข่งขันของประเทศดีขึ้น ซึ่งการออกแบบขนาดความกว้างของรางรถไฟไทวเป็นระบบ มีเตอร์เกจ” (Meter Gauge) ขนาด 1 เมตร มีความเร็วสูงสุด 120 – 140 กม./ชม. และสามารถวิ่งไปได้ไกลสุดทางภาคเหนือถึง จ.เชียงราย ขณะที่ สายใต้ทะลุออกปาดังเบซา ไปประเทศมาเลเซีย ซึ่งรถไฟรางคู่สายใต้นี้ ปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จแล้วจนถึง จ.ชุมพร ส่วนเส้นทางที่เหลือจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าในภาพรวมของเส้นทางรถไฟรางคู่ทั่วประเทศจะแล้วเสร็จภายในปี 2572

สำหรับรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งเป็นระบบ “รางรถไฟมาตรฐานยุโรป” (European Standard Gauge)” ขนาด 1.435 เมตรนั้น จะมีความเร็วสูงสุดที่ 250 กม./ชม. และในอนาคตอันใกล้จะไปเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ไปจนถึงทางตอนใต้ของจีน (เมืองหนานหนิง) ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางรถไฟความเร็วสูงของภูมิภาคนี้ มีเส้นทางจากตอนใต้ของจีนผ่านไทยไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ ขณะที่ จ.หนองคาย จะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภูมิภาคอินโดจีนและเมียนมา

“ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการที่สินค้าจีน จำเป็นจะต้องอาศัยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพื่อขนส่งสินค้าฯ ผ่านไปยังมหาสมุทรอินเดียในอนาคต เนื่องจากพื้นที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอินเดีย หรือเมียนมาในขณะนี้ ถือว่ายังไม่พร้อมจะรองรับการขนส่งสินค้าจากจีน” รมช.คมนาคม กล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password