กรมศุลฯเก็บรายได้ 9 ด. เกินเป้า 3.3% คาดทั้งปีทะลุแสนล.

กรมศุลกากรแถลงผลการจัดเก็บรายได้ และการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในรอบ 9 เดือน เผย! จัดเก็บแล้วรวมกว่า 4.69 แสนล้านบาท เฉพาะรายได้กรมศุลกากรเอง เก็บได้ 88,432 ล้านบาท สูงเกินเป้า 2,802 ล้านบาท ที่เหลือจัดเก็บแทนกรมภาษีอื่นๆ ด้าน “อธิบดีฯธีรัชย์” มั่นใจ ทั้งปีเก็บได้ตามเป้าทะลุแสนล้านบาท

oplus_34

นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร แถลงผลการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2567) ว่า มีทั้งสิ้น 469,662 ล้านบาท แบ่งเป็นการจัดเก็บรายได้ศุลกากร 88,432 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,802 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.3 (ประมาณการ 85,630 ล้านบาท) และการจัดเก็บรายได้แทนหน่วยงานอื่น จำนวน 381,231 ล้านบาท โดยจัดเก็บแทนกรมสรรพากร 293,928 ล้านบาท กรมสรรพสามิต 49,676 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 37,626 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมศุลกากรยังคงดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่ออุดรอยรั่วไหลในการจัดเก็บภาษีอากรอย่างต่อเนื่อง

ด้านการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เดินหน้าปราบปรามการกระทำความผิดทางศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยกรมศุลกากรได้ขานรับนโยบาย และเพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินงานตามด่านศุลกากรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ อีกทั้ง
เพิ่มความเข้มข้นในการลาดตระเวนและตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ตามช่องทางเข้าออกตามแนวชายแดน ช่องทางธรรมชาติ ท่าข้ามต่าง ๆ ทั้งในเส้นทางหลักและเส้นทางรอง เพื่อป้องกันและสกัดกั้นการกระทำความผิด โดยเฉพาะการลักลอบลำเลียงยาเสพติด สิ่งของ สินค้าผิดกฎหมายทุกชนิด อาทิ ยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ บุหรี่ กัญชา สินค้าที่
ไม่ได้มาตรฐาน (สมอ.) สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าเกษตรรวมถึงยางพารา สุกรและส่วนอื่นที่บริโภคได้ของสุกร น้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนั้นยังบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานข้อมูลด้านการข่าวและลงพื้นที่ปราบปรามผู้กระทำผิดในการลักลอบนำสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาในและออกไปนอกราชอาณาจักร

“ในช่วงเวลาที่เหลืออีก 3 เดือน มั่นใจว่ากรมศุลกากรยังคงจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้มากกว่าร้อยละ 3 ทำให้สามารถจัดเก็บรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท” อธิบดีกรมศุลกากร ย้ำ

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวเสริมว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา กรมศุลกากรตรวจยึดสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาในและออกไปนอกราชอาณาจักร จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,611 คดี มูลค่า 1,282,489,631 บาท มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ยาเสพติด อาทิ เฮโรอีน โคคาอีน แมทแอมเฟตามีน กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมยาเสพติด ทั้งสิ้นจำนวน 109 คดี จับผู้ต้องหาได้ 46 ราย มูลค่ารวมกว่า 912,677,474 ล้านบาท

2. กัญชา (นอกเหนือจากช่อดอกและสารสกัดชนิดต่าง ๆ จากกัญชาที่ยังถือว่าเป็นยาเสพติด)
ตรวจยึดได้ 565 คดี ปริมาณ 5,030 กิโลกรัม มูลค่า 14,424,148 บาท

3. บุหรี่ไฟฟ้า อุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า /บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า ตรวจยึดได้ 280 คดี  จำนวน 957,033 ชิ้น มูลค่า  82,741,307 บาท

4. บุหรี่ซิกาแรต ตรวจยึดได้ 1,496 คดี  จำนวน 22,861,988 มวน  มูลค่า 135,511,611 บาท

5. สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน (สมอ.) ตรวจยึดได้ 23 คดี จำนวน 230,711 ชิ้น และ 50,578 กิโลกรัมมูลค่า 65,546,176 บาท

6. สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตรวจยึดได้ 453 คดี จำนวน 338,512 ชิ้น มูลค่า 32,620,634 บาท

7. สินค้าเกษตร อาทิ มะพร้าวและมะพร้าวฝอย กระเทียม หอมหัวใหญ่ ส้ม หอมแดง ปาล์มน้ำมันและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม ยางพารา สุกรและส่วนอื่นที่บริโภคได้ของสุกร ตรวจยึดได้ 473 คดี ปริมาณ 1,839,872 กิโลกรัม มูลค่า 24,078,766 บาท

8. น้ำมันเชื้อเพลิง ตรวจยึดได้ 213 คดี ปริมาณ 137,273 ลิตร มูลค่า 3,743,208 บาท

ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้เพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติพิธีการให้มีความรวดเร็ว ลดขั้นตอน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วย
ในการปฏิบัติงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

นางกิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ ทางศุลกากร กล่าวว่า นับแต่เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้ออกประกาศกรมศุลกากร ที่ 129/2567เรื่อง หลักเกณฑ์และการปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับการนำเข้าของที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ขายในต่างประเทศซึ่งไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กับผู้ขายในประเทศที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยังคงยกเว้นอากรให้สำหรับของที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 116/2567 ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง มีผลทำให้ของที่นำเข้าที่มีราคาตั้งแต่ 1 บาท ขึ้นไป ต้องชำระภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และการปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับการนำเข้าของที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1164  และตรวจสอบรายละเอียดของประกาศกรมศุลกากรที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ www.thaicustoms.go.th หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานศุลกากรทุกแห่งที่ท่านต้องปฏิบัติพิธีการศุลกากร.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password