ค่ายรถเนต้าร่วมมาตรการ EV 3.5 หนุนไทยขึ้นชั้นฐานผลิตรถไฟฟ้าอาเซียน
“เนต้า ออโต้” ค่ายรถยนต์ไฟฟ้ารายที่ 8 เข้าร่วมโครงการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV 3.5) กับกรมสรรพสามิต ที่ประกาศมุ่งเน้นขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หนุนไทยสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของภูมิภาค
ตามที่ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 ในช่วงปี 2567-2570 เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในประเทศไทย นั้น ล่าสุด ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ร่วมลงนามในข้อตกลงการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 กับบริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด โดย นายชู กังจื้อ กรรมการบริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตได้ขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 ในช่วงปี 2567 – 2570 เพื่อส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน พร้อมทั้งขยายโอกาสของประเทศไทยในเวทีโลกในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) สอดคล้องกับบทบาทสำคัญของกรมสรรพสามิตในการก้าวสู่กรม ESG ด้วยยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
ทั้งนี้ มีบริษัทที่ได้เข้าร่วมลงนามในข้อตกลงการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 เพื่อรับการสนับสนุนจากกรมสรรพสามิตในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 7 ราย ประกอบด้วย…บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ ซีพี จำกัด บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เรเว่ คอมเมอร์เชียล วีฮิเคิลส์ จำกัด และ บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด
ดร. เอกนิติ กล่าวคาดการณ์ว่า จะมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากมาตรการ EV 3.5 ประมาณ 175,000 คัน ในปี 2567-2568 ส่งผลให้เกิดการผลิตรถยนต์ภายในประเทศ ประมาณ 350,000 – 525,000 คัน ภายในปี 2570
“มาตรการ EV 3.5 นี้ จะช่วยสนับสนุนความเป็นกลางทางคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ ให้เป็นศูนย์ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์ ESG ของกรมสรรพสามิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน”
สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือที่ www.excise.go.th.