ขรก.ไม่สน ‘รับเงินเดือน 2 รอบ’ – บก. ‘ยกธง!’ ลดสัดส่วนรายจ่ายประจำที่พุ่ง 80%

กรมบัญชีกลางยอมรับ! ยากปรับลดสัดส่วนรายจ่ายประจำที่พุ่งสูงถึง 80% ของงบประมาณแต่ละปี หันเน้นกำกับดูแลภาครัฐเบิกจ่ายเงินหลวงอย่างมีประสิทธิภาพแทน ย้ำ! เม็ดเงินงบประมาณปี 2567 ต่อด้วยปี 2568 จะไม่สร้างปัญหาเงินท่วมระบบเศรษฐกิจ ห่วงแต่หน่วยงานรัฐ “คิดช้า” หลุดกรอบเวลาที่จนถึงดึงเงินคืนเข้าหลวง เผย! ระบบจ่ายเงินเดือนขรก. 2 รอบ “เหลว!” เหตุมีคนใช้ระบบนี้น้อยมาก

นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยถึงสัดส่วนเงินงบประมาณรายจ่ายจำปี 2567 ว่า ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านๆ มา โดยร้อยละ 80 เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ ครอบคลุมเงินเดือนและสวัสดิการที่ให้กับข้าราชการทั้งระบบ เหลือเป็นงบลงทุนเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น โดย กรมบัญชีกลาง (บก.) เป็นหน่วยงานปลายทางที่มีภารกิจหลัก คือการกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินและหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปโดยถูกต้องภายใต้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง จึงไม่สามารถจะลดสัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำข้างต้นลงมาได้ สิ่งที่ทำได้คือ การกำกับดูแลการใช้ของหน่วยงานของรัฐให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ การแข่งขันที่เป็นธรรมและการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ผลิตสินค้าและวัสดุของภาคเอกชน ที่จะนำมาใช้ในหน่วยงานของรัฐ ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างแต่ละปีที่มีสูงถึงร้อย 7 ของจีดีพีของไทย (หรือราว 1.253 ล้านล้านบาท) เชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินการของภาครัฐได้

ส่วนงบประมาณของปี 2567 ในส่วนที่เหลืออีกราว 1 ใน 3 ของวงเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท (หรือราว 1.13 ล้านล้านบาท) รวมถึงวงเงินงบประมาณปี 2568 อีกราว 3.75 ล้านล้านบาท ที่จะถูกนำออกมาใช้ในเร็วๆ นี้ และใช้ต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกันนั้น กรมบัญชีกลางจะมีแนวทางในการกำกับดูแลการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างไร นางแพตริเซีย กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณปี 2567 กรมบัญชีกลางได้ออกหนังสือเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไปก่อนแล้ว เชื่อว่าเมื่อ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2567 แล้วเสร็จ การเบิกจ่ายก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร สิ่งที่ตนเป็นห่วงไม่ใช่เม็ดเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลจะไหลท่วมระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากหน่วยงานต่างๆ มีแผนในการจัดทำงบประมาณล่วงหน้าอยู่แล้ว แต่ห่วงเรื่องความล่าใช้การจัดซื้อจัดจ้างมากกว่า เพราะหากเกิดความล่าช้ากระทั่ง เกินระยะเวลาที่สำนักงบประมาณกำหนดไว้ เงินงบประมาณดังกล่าวก็จะถูกดึงกลับไปเป็นเงินคงคลังของแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานภาครัฐที่ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ กรมบัญชีกลางก็พร้อมจะอนุมัติการเบิกจ่าย ซึ่งทุกวันนี้ สามารถดำเนินการได้เร็วสุดรองรับผู้ใช้งาน (ยูสเซอร์) ประมาณ 7,000 ยูสเซอร์ต่อ 1 วินาที

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าของการจัดทำระบบบัญชีเงินเดือนของข้าราชการประจำและลูกจ้างของรัฐในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร? อธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุว่า จากจำนวนข้าราชการประจำ (พลเรือน) 1.3 ล้านคนนั้น มีผู้สนใจขอรับเงินเดือน 2 รอบเพียง 9,000 คนเศษ ขณะที่ลูกจ้างของรัฐที่มีกว่า 10,000 คน แต่ขอรับเงินเดือน 2 รอบแค่ 140 คนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากให้มองว่าเป็นความผิดพลาดในเชิงนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ รวมถึงข้าราชการประจำและลูกจ้างส่วนใหญ่ ยังเป็นคนรุ่นเก่าที่คุ้นชินกับระบบการจ่าย/รับเงินเดือนในทุกสิ้นเดือน เพราะสอดรับกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่มี ไม่ว่าจะเป็น ค่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางจะรอดูข้อมูลในช่วงสิ้นปีนี้อีกครั้ง โดยเฉพาะพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาร่วมงานกับภาครัฐว่ามีความต้องการในระบบการจ่าย/รับเงินเดือนอย่างไร เพื่อจะใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password