SME D Bank ทุบทุกสถิติ! เผยปล่อยกู้ช่วยเอสเอ็มอีปีก่อน 7 หมื่นล. – ตั้งเป้าปี’67 แตะที่ 9 หมื่นล. 

“นารถนารี รัฐปัตย์” พูดน้อย…แต่สร้างผลงานไว้เยอะมาก! พร้อมโชว์สกีลปรับผลดำเนินงานจากที่เคยติดลบ ให้กลับเป็นบวกต่อเนื่องตลอด 4 ปี ก่อนโยกไปรับตำแหน่ง “เอ็มดี.คนใหม่” กับ  SAM กลางเดือน มี.ค.67 เผย! ผลความสำเร็จที่เป็นสถิติใหม่ คือ พาเอสเอ็มอีถึงแหล่งทุนกว่า 7.06 หมื่นล้านบาทในปี 2566 โดยเน้นไปที่การปล่อยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนกว่า 5 หมื่นล้านบาท เน้นช่วยเอสเอ็มอีพ้นวิกฤติ รวมตลอด 4 ปีปล่อยสินเชื่อไปแล้วรวมกว่า 2.3 แสนล้านบาท สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท พร้อมพัฒนาเสริมแกร่งกว่า 7.5 หมื่นราย รักษาการจ้างงานได้กว่า 7.5 แสนราย  ขณะที่บริหาร NPL มีประสิทธิภาพ เหลือต่ำสุดในรอบ 22 ปี ประกาศปี 2567 ยกระดับสู่ยุคดิจิทัลโดยสมบูรณ์ คิกออฟใช้ระบบ CBS พร้อมแพลตฟอร์ม DX  มั่นใจเดินหน้าไร้รอยต่อ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปี 2567 ทะลุ 9 หมื่นล้านบาท  

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวถึงผลการดำเนินงานของธนาคาร ปี 2566 และภาพรวมตลอด 4 ปี (2563-2566) ว่า จากจุดยืนการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่พร้อมเคียงข้างส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตยั่งยืน  ด้วยแนวทาง “เติมทุนคู่พัฒนา” ประกอบกับความมุ่งมั่น ทุ่มเทของคณะกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานที่รวมพลังเป็น ONE Team  ส่งผลให้ปี 2566 ที่ผ่านมา  SME D Bank สร้างสถิติใหม่สูงสุด (New High) นับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารมาใน 22 ปี สามารถพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนกว่า 70,695 ล้านบาท และยังเป็นการสร้าง New High ต่อเนื่อง 4 ปีซ้อน (2563-2566) อีกทั้ง ช่วยสร้างประโยชน์เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 323,780  ล้านบาท รักษาการจ้างงานประมาณ 123,200  ราย นอกจากนั้นช่วยพัฒนาเสริมแกร่งธุรกิจอีกกว่า 24,000 ราย

ทั้งนี้ ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2563-2566) ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19  SME D Bank ช่วยเหลือดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ให้สามารถประคับประคองธุรกิจ และข้ามผ่านช่วงเวลายากลำบากไปให้ได้ โดยเติมทุนช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 231,250 ล้านบาท ก่อให้เกิดประโยชน์สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท และช่วยรักษาการจ้างงานได้ประมาณ 752,345 ราย ควบคู่กับช่วยพัฒนาเสริมศักยภาพ ให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและกลับมาฟื้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อบรม สัมมนา ช่วยขยายตลาด ยกระดับมาตรฐาน สนับสนุนเข้าถึงนวัตกรรม พาจับคู่เพิ่มช่องทางขายในและต่างประเทศ เป็นต้น มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมและได้รับประโยชน์มากกว่า 75,000 ราย 

นอกจากนั้น ธนาคารฯยังดูแลลูกค้าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  ผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (ฟ้า-ส้ม) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กว่า 83,520 ราย วงเงินรวมกว่า 145,240 ล้านบาท อีกทั้ง สามารถบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อย่างมีประสิทธิภาพ ลงลด 4 ปีติดต่อกัน เหลือเลข 1 หลัก 2 ปีซ้อน โดยปี 2566 ลดเหลือประมาณ 8,690 ล้านบาท คิดเป็น 8.3% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี 

“ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา SME D Bank เพิ่มประสิทธิภาพ  ยกระดับการทำงาน อีกทั้ง พัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อตอบความต้องการ ปรับปรุงหลักเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์จริง ควบคู่กับสร้าง DNA แห่งการเป็น “นักพัฒนา” หรือ DEVELOPER ในหัวใจของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกคน เพื่อจะพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน” นางสาวนารถนารี กล่าวและว่า

สำหรับการปล่อยสินเชื่อปี 2566 ที่ผ่านมาว่า ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย จากเดิมที่เราตั้งใจว่าจะต้องเติบโต แต่จากสถานการณ์จริงคือ มีการลงทุนของเอสเอ็มอีที่ชะลอตัวลง ดังนั้น ธนาคารฯจึงได้ปรับแผนการปล่อยสินเชื่อ โดยเน้นเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อเสริมสภาพคล่องของเอสเอ็มอี ขณะเดียวกัน ยังเน้นการลดต้นทุน โดยออกผลิตภัณฑ์ด้านการรีไฟแนนซ์ ทำให้เอสเอ็มอีที่เคยมีต้นทุนภาระดอกเบี้ยที่สูงก็ลดลงมา โดยในส่วนของการปล่อยสินเชื่อทั้งปีรวม 70,695 ล้านบาท เป็นเรื่องการปล่อยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนถึง 50,000 ล้านบาทเศษ ส่วนลูกค้าที่ยังประสบปัญหาไปต่อไม่ได้ เรายังคงให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง ผ่านทำการปรับโครงสร้างหนี้รวมกว่า 20,000 ล้านบาท

“แม้ลูกค้า (ลูกหนี้) จะได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากปัญหาอัตราดอกเบี้ยและสภาวะภายนอกต่างๆ ที่มีค่อนข้างมาก แต่ SME D BANK ยังคงให้การดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ควบคู่กันไป เอสเอ็มอีเองก็ต้องมีการพัฒนา เพิ่มในเรื่องของการค้าขายเข้าไปด้วย” เอ็มดี. SME D BANK ระบุ

สำหรับปี 2567 การทำงานของ SME D Bank ยกระดับไปอีกขั้น นำระบบดิจิทัลใหม่ หรือ Core Banking System (CBS) ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปี  มาใช้งานอย่างเป็นทางการ สามารถให้บริการทางการเงินแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ครบวงจร ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง สะดวด รวดเร็ว และปลอดภัย นอกจากนั้น ยังมีแพลตฟอร์ม DX  (Development Excellent) ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งเป็นระบบพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ สร้างสังคมของการเรียนรู้  e-Learning ศึกษาได้ด้วยตัวเอง 24 ชม. สามารถปรึกษาโค้ชมืออาชีพแบบตัวต่อตัว  รวมถึง ยังช่วยเพิ่มช่องทางขยายตลาด  นอกจากนั้น ยังนำหลัก  ESG (การดูแลสิ่งแวดล้อม (Environment) ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social) และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance)) มาขับเคลื่อนในทุกมิติขององค์กร สร้างความเชื่อมั่น โปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างคุณค่าแก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

“ส่วนปี 2567 เราตั้งเป้าไว้ที่ 90,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่การปล่อยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนเหมือนปีที่ผ่านมา” นางสาวนารถนารี กล่าวก่อนจะทิ้งท้ายว่า

แม้ในวันที่ 1 มีนาคม 2567 นี้ ตนจะครบวาระการทำงาน 4 ปี ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ  แต่ด้วยรากฐานมั่นคงขององค์กร อีกทั้ง ทีมผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ล้วนเป็นบุคลากรภายในที่ร่วมผลักดันยกระดับองค์กรมาด้วยกัน และยังอยู่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรต่อเนื่อง ทำให้การทำงานทุกด้านของ SME D Bank สามารถเดินหน้าได้ดีอย่างไร้รอยต่อ และเชื่อมั่นว่า SME D Bank พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างทั่วถึง และมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์ความมั่นคงและยั่งยืนแก่ประชาชน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยตลอดไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากสิ้นสุดวาระการทำงานที่ SME D Bank แล้ว นางสาวนารถนารี จะมีเวลาพักผ่อนประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนจะเข้าไปรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บบส.) หรือ SAM ต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password