BAM ตั้งเป้าผลเรียกเก็บ 2 หมื่นล. – ย้ำ! แผน ‘ร่วมทุนแบงก์รัฐ’ สัดส่วนต้อง 50 : 50

BAM เปิดกลยุทธ์ปี’67 ชูแผนขยายธุรกิจ พ่วงขยายการดำเนินธุรกิจใหม่ หวังปั้นผลเรียกเก็บเข้าเป้า 20,000 ล้านบาท พร้อมเร่งขยายฐานสินทรัพย์เพิ่มอีก 70,000 ล้านบาท สร้างโอกาสทางธุรกิจให้ BAM เติบโตอย่างยั่งยืน เผย! ที่ช่วยลูกหนี้จนได้ข้อยุติไปแล้ว 154,178 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 479,650 ล้านบาท ด้าน “CEO – บัณฑิต” ย้ำ! แผนรุกธุรกิจใหม่ “ร่วมทุนแบงก์รัฐ” ช่วยแก้ปมหนี้สินภาคครัวเรือนของชาติ ต้องถือหุ้นฝั่งละครึ่ง ตัดปัญหาควบรวมกิจการ ระบุ! เศรษฐกิจยามนี้ไม่ถึงขั้นมีปัญหา แต่ลูกหนี้กลับอ่อนแรง อาจดันยอด NPL พุ่ง! จำเป็นต้องเร่งหาตัวและช่วยเหลือด่วน ส่วนเม็ดเงินซื้อทรัพย์เข้าพอร์ต หากแก้หนี้และปั้มยอดขายได้มาก พร้อมขยับตัวเลขจากเดิม 10,000 ล้านบาท หรือโต 8% เป็น 14%

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวถึงแผนกลยุทธ์ในการดำเนินงานปี 67 ว่า BAM ได้กำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างผลเรียกเก็บให้เป็นไปตามเป้าหมายปี 67 ที่ 20,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายระยะกลางในปี 69 อยู่ที่ 23,300 ล้านบาท ขณะที่การขยายฐานสินทรัพย์มีเป้าหมายลงทุนซื้อคิดเป็นเงินต้นคงค้าง 70,000 ล้านบาท เพื่อรักษาขนาดสินทรัพย์และโอกาสทางธุรกิจของ BAM โดยปัจจุบัน BAM มี NPLs อยู่ที่ 473,636 ล้านบาท และมี NPAs อยู่ที่ 69,807 ล้านบาท ขณะเดียวกัน BAM สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติจากการแก้ไขปัญหาหนี้เป็นจำนวน 154,187 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 479,650 ล้านบาท และสามารถจำหน่ายทรัพย์ไปแล้ว จำนวน 51,420 รายการ คิดเป็นราคาประเมิน 121,378 ล้านบาท

สำหรับกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามที่วางไว้ ประกอบไปด้วย การขยายธุรกิจ (Business Expansion) โดยใช้ กลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ Clean Loan (สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน) ที่มีอยู่ประมาณ 206,000 ล้านบาท ด้วยการจัดกลุ่มลูกหนี้ Clean Loan ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บริหารเอง กับ กลุ่มที่ให้ทนายนอก/Collector บริหารจัดการ เพื่อลดเวลาในการติดตามหนี้ รวมทั้ง การดำเนินโครงการกิจการค้าร่วม (Consortium) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 2-3 ราย โดยในเบื้องต้น BAM จะคัดเลือกทรัพย์ประเภทโครงการ เพื่อกำหนดมาตรฐานเงื่อนไข รวมทั้งการกำหนดหน่วยงานขึ้นมาดูแลโครงการดังกล่าว

ขณะที่ การดำเนินธุรกิจใหม่ (New Business) วางแนวทางการร่วมทุนกับสถาบันการเงิน ซึ่ง BAM จะได้ค่าบริหารจัดการตามสัดส่วนที่มีข้อสรุปร่วมกัน การสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม ด้วยการพัฒนาระบบด้านการสำรวจและประเมินราคาทรัพย์ เพื่อสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมในการดำเนินงานดังกล่าว (แผนระยะกลาง) การพัฒนา Pricing Model ด้วยการลงทุนแบบ Selective เพื่อรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ในราคาที่เหมาะสมและยังคงบทบาทหลักในการเป็นแก้มลิงเพื่อรองรับ NPL/NPA เพื่อช่วยพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้วยแผนการลดขั้นตอนและระยะเวลาในกระบวนการทางคดี กระบวนการประเมินราคาทรัพย์ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่น ตลอดจนการปรับปรุงระเบียบ/คำสั่งต่างๆ เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน

“ในส่วนการร่วมทุนกับสถาบันการเงิน (ของรัฐ) ที่จะมีในอนาคตอันใกล้นั้น BAM จะยึดหลักการในการถือหุ้น 50 : 50 เพื่อป้องกันปัญหาการ Consolidated (การรวมกิจการเข้าด้วยกัน) โดยเฉพาะการทำบัญชีและการเงินที่จะมีตามมา โดยไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถือหุ้นมากกว่าหรือมีอำนาจเหนือกว่ากัน ทั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องมีตัวแทนในบอร์ด คณะผู้บริหาร ในสัดส่วนเท่าๆ กัน นายบัณฑิต ย้ำและว่า…

เป้าหมายการร่วมทุนกับสถาบันการเงิน (ของรัฐ) จะเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเป็นหลัก สอดรับกับแนวนโยบายของภาครัฐ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการลดสัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนจากเดิมร้อยละ 90 ของจีดีพี ให้เหลือต่ำลง (ภาครัฐและธปท.คาดหวังจะเห็นสัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนลดลงจากร้อยละ 90 เหลือร้อยละ 80 ของจีดีพี) ทั้งนี้ การดำเนินงานในระยะแรกคงไม่เน้นที่ผลกำไร แต่จะเน้นไปที่การดำเนินงานตอบสนองนโยบายของภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าการร่วมทุนดังกล่าวจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทร่วมทุนฯดังกล่าวในปีที่ 2 ที่ 3 และปีต่อๆ ไป

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAM มองภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ว่า แม้เศรษฐกิจของไทยจะไม่ถึงขั้นมีปัญหา แต่ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะจีน กำลังประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ จากผลพวงของปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อไทยบ้าง โดยเฉพาะภาคการส่งออกและท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มภาวะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง ประกอบกับค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามากขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ ก็น่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา

กระนั้น ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงและ BAM สังเกตเห็นคือ สถานการณ์ในการชำระหนี้ของลูกค้า (ลูกหนี้) ยามนี้ ไม่ค่อยดีสักเท่าใด ทำให้กลยุทธ์การดำเนินงานของ  BAM ในปีนี้ จำเป็นจะต้องผ่อนปรนให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน  BAM จำเป็นจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ปัจจุบันลูกหนี้เป็นใคร? และอยู่ที่ไหน? เพื่อจะได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาหนี้ของลูกค้ากลุ่มนี้โดยเร็วที่สุด

สำหรับเม็ดเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท ที่ BAM วางแผนจะนำไปซื้อทรัพย์ในปีนี้ แต่เนื่องจากพบแนวโน้มที่สถาบันการเงินต่างๆ เตรียมจะนำทรัพย์ออกมาขายในตลาดที่มีมากเกินปกติ ทำให้ BAM อาจต้องทบทวนแผนการซื้อทรัพย์เข้ามาเก็บไว้ในพอร์ต ภายใต้เงื่อนไขที่ดีและเหมาะสมที่สุด ทั้งนี้ หากการแก้ไขปัญหาหนี้เสียทำได้เร็ว ขณะที่แผนการขายทรัพย์ NPA ทำได้มากขึ้น ก็มีความเป็นไปได้สูง ที่ BAM จะเพิ่มเม็ดเงินในการซื้อทรัพย์ในปีนี้ ซึ่งปกติจะมีอัตราการเติบโตราว 8% จากปีก่อน โดยมีความเป็นไปได้ที่สัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มได้ถึง 14% ทั้งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขข้างต้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับแผนการดำเนินงานดังกล่าว BAM ได้เตรียมความพร้อมในการสร้างบุคลากรด้วยการพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับอนาคต Capability Development ด้วยการจัดทำแผนพัฒนา Successor & Talent และพัฒนา Core Capability โดย BAM ยังตระหนักถึงการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน ซึ่ง BAM ได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน “SET ESG Ratings” 2 ปีซ้อน และมีผลการประเมินที่ระดับ “AA” สะท้อนให้เห็นว่า BAM ได้ยกระดับการดำเนินงานและการจัดทำรายงานความยั่งยืนภายใต้กรอบ ESG รวมทั้ง BAM ยังมีการนำแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งพร้อมรับมือกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล

ด้าน นายพงศธร มณีพิมพ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายพัฒนาสินทรัพย์ภูมิภาค กล่าวว่า จุดเด่นของ BAM คือ การมีสำนักงานสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งเครือข่ายสำนักงานภูมิภาคช่วยให้เข้าถึงลูกค้าและให้บริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง ยิ่งได้พนักงานสาขาส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น ทำให้มีความเข้าใจสภาวะตลาดในพื้นที่นั้นๆ และเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อ BAM ในการเจาะกลุ่มเป้าหมายการทำตลาดและยังทำให้สามารถประเมินราคาของทรัพย์สินในกระบวนการกำหนดราคาซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายได้แม่นยำยิ่งขึ้น

บทบาทของส่วนภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการจัดเก็บรายได้ (ผลเรียกเก็บ) ของ BAM โดยเฉพาะการทำให้สำนักงานสาขาเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนผลการดำเนินงาน จนประสบผลสำเร็จ ช่วยให้สามารถติดตามและบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ รายได้เกือบครึ่งหนึ่งมาจากการทำงานในส่วนภูมิภาค ดังนั้น BAM จึงให้ความสำคัญกับการทำงานในส่วนนี้มากขึ้น เชื่อว่าส่วนภูมิภาคจะมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้ BAM บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ นายพงศธร ย้ำ

ด้าน ดร.ธนกร หวังพิพัฒน์วงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายสารสนเทศและดิจิทัล กล่าวว่า ปัจจุบัน BAM ได้เร่งสร้างระบบการให้บริการลูกค้าบน Online Platform โดยมีระบบการชำระเงิน และ E-TDR (การปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์) ด้วยการจัดทำ BAM Mobile Application ระบบจองทรัพย์/ชำระเงิน และระบบตรวจสอบภาระหนี้/ชำระหนี้ รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูล DATA Management Dashboard ด้วยการสร้างศูนย์ข้อมูลกลาง (DATA Center) เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลสำคัญขององค์กรและรายงานต่างๆ จากแหล่งเดียวกัน ซึ่งเป็นการสร้างคลังข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อกลายเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Organization) และเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจสำหรับการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าสัดส่วนการดำเนินงานของ DATA Center จากที่เคยมีเพียง 13% ในปีที่ผ่านมา จะเพิ่มเป็น 20% ในปีนี้ และเพิ่มมากยิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป

ในขณะเดียวกัน ยังได้นำระบบ Lead Management ที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่สนใจสินค้าและกลุ่มลูกหนี้ของ BAM ที่ต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อนเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ให้ติดต่อหรือลงทะเบียนเข้ามา เพื่อสร้างโอกาสในการปิดการขาย หรือโอกาสในการปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพิ่มขึ้น พร้อมกับเตรียมนำ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ลูกหนี้ ทำให้สามารถจำแนกลูกหนี้กลุ่มต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password