กฟผ. โชว์นวัตกรรมระบบวิเคราะห์และสั่งการระบบไฟฟ้าข้ามประเทศแบบอัตโนมัติ
กฟผ. โชว์ระบบวิเคราะห์และสั่งการระบบไฟฟ้าข้ามประเทศแบบอัตโนมัติผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะและไอโอที ตัวช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ย้ำความพร้อมเป็นศูนย์กลางระบบไฟฟ้าของภูมิภาค และ 6 ผลงาน นวัตกรรมด้านพลังงาน ในงานวันนักประดิษฐ์ 2-6 ก.พ. นี้ พร้อมส่ง 8 ผลงานเด่นจากเวทีนานาชาติ ร่วมประกวด IPITEx 2024
นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำทีมนักประดิษฐ์ กฟผ. ร่วมนำเสนอผลงานเด่นด้านนวัตกรรมในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 (Thailand Inventors’ Day 2024) ซึ่งจัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ณ Event Hall 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักวิจัย นักประดิษฐ์ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ เข้าร่วม
นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. กล่าวว่า การพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านงานวิจัยและนวัตกรรม ถือเป็นปัจจัยสำคัญในยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ช่วยส่งเสริมและผลักดัน การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สังคมและประเทศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา กฟผ. ให้ความสำคัญ สนับสนุน และส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมพัฒนาการทำงานด้านการผลิตและส่งไฟฟ้าควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศ
ภายในงาน กฟผ. ยังได้นำ 6 ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ซึ่งได้รับรางวัลจากเวทีระดับประเทศและนานาชาติร่วมจัดแสดงเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่บุคคลที่สนใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงส่งต่อแรงบันดาลใจและจุดประกายให้ผู้ที่เข้าชมงานเห็นถึงความสำคัญของการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ ดังนี้
1) ระบบวิเคราะห์และสั่งการระบบไฟฟ้าข้ามประเทศแบบอัตโนมัติผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะและไอโอที ควบคุมการรับส่งไฟฟ้าข้ามประเทศ เนื่องจากระบบส่งไฟฟ้าของไทยบางส่วนเชื่อมต่อกับ สปป.ลาว หากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติอาจทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างได้ทั้งสองประเทศ กฟผ. จึงนำนวัตกรรมนี้มาใช้ สร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ
2) เครื่องช่วยขึ้น-ลงที่สูงสำหรับช่างสาย ซึ่งพร้อมต่อยอดให้บริการแก่โครงข่ายระบบไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน 3) ระบบบริหารจัดการพลังงาน (ENZY One Platform) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในสถานที่ใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะมีการทดสอบในประเทศเพื่อนบ้านด้วย
4) EGAT EV Business Solutions นวัตกรรมรองรับยานยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคตแบบครบวงจร ทั้งสถานีชาร์จ Elex by EGAT Application: EleXA และระบบ BackEN EV ตัวช่วยบริหารจัดการสำหรับผู้ที่สนใจลงทุนซึ่งมีสถานีชาร์จในประเทศเพื่อนบ้านในเครือข่ายแล้วในปัจจุบัน 5) Water Solution Drone การบริการตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติโดยอากาศยานไร้คนขับ และ 6) ระบบการตรวจจับเพลิงไหม้ด้วยการประมวลผลภาพ
นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้นำ 8 ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ในเวทีนานาชาติประจำปี 2566 เข้าร่วมประกวด 2024 Bangkok International Intellectual Property, Invention, Innovation and Technology Exposition (IPITEx 2024) ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพด้วย เช่น การพัฒนาต้นแบบหอฟอกอากาศสำหรับชุมชน ด้วยเทคนิคพลาสมา เครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กแบบปรับความเร็วรอบ (ต้นแบบ) ขนาด 100kW เทคนิค การตรวจสอบคุณภาพรอยต่อสายพานขนส่งถ่านหิน และเครื่องมือ ชุด Slide Pump เป็นต้น.