‘รมช.คมนาคม’ เกาะติดแผนพัฒนาขนส่งทางน้ำ หนุนระนองสู่ ‘ฮับโลจิสติกส์’ ของภูมิภาค

“มนพร เจริญศรี” ลงพื้นที่ร่วมคณะของนายกฯและครม. พร้อมเดินหน้าติดตามคืบหน้าการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำ สนับสนุนการท่องเที่ยว ตั้งเป้าผลักดันระนองเป็น “ฮับโลจิสติกส์ทางน้ำ” ของภูมิภาค

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงคมนาคม และ นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดระนอง และประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการสำคัญด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำ โดยมี นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า นายอภิเสต พงษ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย นายคำรณ อินทร์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระนอง และผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 ณ ท่าเรืออเนกประสงค์ระนอง จ.ระนอง 

นางมนพร กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) อย่างยั่งยืน สู่การเป็นประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค กระทรวงคมนาคมได้มีแผนงานและดำเนินโครงการในการเชื่อมโยงการขนส่งและคมนาคมทางน้ำให้สอดรับตามนโยบายรัฐบาล โดยการพัฒนาท่าเรือต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้า รวมทั้งยกระดับความปลอดภัยการคมนาคมทางน้ำ ซึ่งในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ โครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำทางเรือเดิน โครงการพัฒนาวงแหวนอันดามันและการพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ฝั่งอันดามัน ของกรมเจ้าท่า โครงการขยายท่าเรืออเนกประสงค์ระนอง ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยมีความคืบหน้าการดำเนินงาน ดังนี้

1. โครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำทางเรือเดิน จำนวน 3 โครงการ

ขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลที่ร่องน้ำระนอง (คลองด่าน) งบประมาณปี 2567 วงเงินงบประมาณ 45.78 ล้านบาท โดยขุดลอกปริมาณ 500,000 ลูกบาศก์เมตร ร่องน้ำลึก 2 เมตร เพื่อสนับสนุนการเดินทาง ท่องเที่ยวทางน้ำ รวมทั้งเรือประมงในพื้นที่

ขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลที่ร่องน้ำท่าเรือไปเกาะพยาม งบประมาณปี 2567 วงเงินงบประมาณ 19.471 ล้านบาท โดยขุดลอกปริมาณ 200,000 ลูกบาศก์เมตร ร่องน้ำลึก 1.5 เมตร เพื่อสนับสนุนการเดินทาง ท่องเที่ยวทางน้ำ รวมทั้งเรือประมงในพื้นที่

– ขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลที่ร่องน้ำท่าเรืออเนกประสงค์ระนอง งบประมาณปี 2567 วงเงินงบประมาณ 96.65 ล้านบาท โดยขุดลอกปริมาณ 1,000,000 ลูกบาศก์เมตร ร่องน้ำลึก 8.5 เมตร เพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับของท่าเรือ ทั้งนี้ กรมเจ้าท่ามีแผนการขุดลอกร่องน้ำเป็น 4 ช่วง ระยะเวลา 4 ปี (ปี 2567 – 2570) ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จตามแผน ร่องน้ำจะมีขนาดความกว้าง 120 เมตร ลึก 12 เมตร ความยาว 28 กิโลเมตร ระยะทางจากปากร่องเกาะช้างจนถึงท่าเรือระนอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการรองรับเรือสินค้าที่มีขนาดใหญ่กินน้ำลึกมากกว่า 8 เมตร ให้สามารถเข้ามาใช้บริการที่ท่าเรือระนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. โครงการพัฒนาวงแหวนอันดามัน เชื่อมโยงการเดินทางทางนํ้าเป็นวงแหวนเชื่อมระหว่าง จ.ภูเก็ต-พังงา-กระบี่ ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือ เพื่อส่งเสริมการเดินทาง ขนส่งทางน้ำให้มีความสะดวกปลอดภัย และสนับสนุนการท่องเที่ยวทางนํ้า ประกอบด้วย 4 ท่าเรือ

– ท่าเรือมาเนาะห์ ต.เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา วงเงินงบประมาณรวม 175 ล้านบาท ขอรับงบประมาณปี 2567 – 2569 แบ่งเป็น ปี 2567 วงเงิน 26.5 ล้านบาท และปี 2568 วงเงิน 70 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 78.5 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงก่อสร้างท่าเรือใหม่ ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารได้อย่างสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น

– ท่าเรือช่องหลาด ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา วงเงินงบประมาณรวม 185 ล้านบาท ขอรับงบประมาณปี 2567 – 2569 แบ่งเป็น ปี 2567 วงเงิน 27.75 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 74 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 83.25 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงก่อสร้างท่าเรือใหม่ ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารได้อย่างสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น

– ท่าเรือเฟอร์รี่ท่าเลน ต.เขาทอง อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ วงเงินงบประมาณรวม 120 ล้านบาท ขอรับงบประมาณปี 2568 – 2569

– ท่าเรือเฟอร์รี่อ่าวปอ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต วงเงินงบประมาณรวม 280 ล้านบาท ขอรับงบประมาณปี 2567 – 2570

โครงการพัฒนาวงแหวนอันดามัน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด จะทำให้ลดระยะเวลาการเดินทางเมื่อเปรียบเทียบกับทางถนน และเกิดการขนส่งรถยนต์ผ่านทางเรือวิ่งตัดอ่าวพังงา รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคธุรกิจการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืน

3. การพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) จากผลการศึกษาได้เสนอแนวทางปรับปรุงท่าเรือนํ้าลึกภูเก็ตให้สามารถรองรับเรือ Cruise และท่าเรือจอดทิ้งสมอ (Landing Pier) อ่าวแหลมป่อง ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2576 การพัฒนาท่าเรือ Cruise จะช่วยสนับสนุนธุรกิจเรือ Cruise ในประเทศไทย และเป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสัดส่วนรายได้ด้านการท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถ ทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศ กระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยวเรือสำราญ

4. โครงการขยายท่าเรืออเนกประสงค์ระนอง มีแผนพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการของท่าเรือ โดยการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือ และพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค เครื่องมือทุ่นแรง รวมถึงการให้บริการให้สามารถรองรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยขยายหน้าท่าเทียบเรือให้สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่มีขนาด 12,000 เดทเวทตัน และตั้งเป้าให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้มากขึ้น สำหรับท่าเทียบเรือที่ 2 จะดำเนินการซ่อมแซมโครงสร้างที่ชำรุดเพื่อให้มีความปลอดภัยในการรองรับเรือบรรทุกสินค้า นอกจากนี้ ยังมีโครงการสร้างท่าเทียบเรือ 3 และลานวางตู้สินค้าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับการให้บริการของท่าเรือระนอง ในระยะยาว

ท่าเรือระนองซึ่งเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามัน และการขนส่งสินค้าไปยังกับกลุ่มประเทศ BIMSTEC และจีน ซึ่งการพัฒนาท่าเรือระนองให้สามารถเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นท่าเรือที่พร้อมรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ของประเทศ จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ของรัฐบาล

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และมอบนโยบายการขุดลอกต่างตอบแทน ซึ่งเป็นการลดงบประมาณภาครัฐในการขุดลอกร่องน้ำ เพื่อรองรับเรือและเพิ่มศักยภาพในการเดินทางขนส่งทางน้ำ สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ สั่งการให้ จท. และ กทท. ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและข้อคิดเห็น รวมทั้งความกังวลของประชาชนและชาวประมงในพื้นที่ เกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ ทั้งประเด็นการเวนคืนที่ดิน ผลกระทบต่อวิถีชีวิต ที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพประมง ในพื้นที่ตามแนวโครงการ โดยต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจ สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาแก่ประชาชนเพื่อบอกข้อมูลโครงการและโอกาสที่จะเกิดขึ้นเมื่อโครงการแล้วเสร็จ เช่น การสร้างงาน สร้างรายได้ รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และประเทศให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ให้ จท . บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ รวบรวมปัญหารวมทั้งข้อสงสัย ข้อกังวลของประชาชนในพื้นที่ เพื่อรายงานต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมต่อไป

ปัจจุบันโครงการฯ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงมีความสำคัญ เพื่อนำมาพิจารณาถึงความเหมาะสมในการดำเนินโครงการให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้งต่อคนในพื้นที่และภาพรวมของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันการเดินเรือระหว่างประเทศที่ช่องแคบมะละกา มีแนวโน้มจำนวนเรือขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่มีโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้า ที่สามารถร่นระยะทางและลดเวลาในการส่งสินค้าออกไปยังประเทศต่าง ๆ 

การผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ของรัฐบาล จะเป็นการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ที่สามารถเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน นำมาซึ่งการสร้างรายได้ให้ประเทศ และดึงดูดนักลงทุนมาใช้ประเทศไทย

นอกจากนี้ นางมนพร ได้เดินทางร่วมกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่ท่าเรือระนอง – เกาะสอง เพื่อพบและรับฟังปัญหาจากประชาชนและผู้แทนชาวประมง โดยติดตามประเด็นการค้าชายแดน แรงงานข้ามชาติ พิธีการศุลกากร การประมงการแก้ไขปัญหา IUU ทั้งนี้ รัฐบาลยินดีให้การสนับสนุนการปรับปรุงท่าเรือระนอง – เกาะสอง ให้มีการยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการค้าชายแดนและการเดินทางของนักท่องเที่ยว ด้านการขนส่งสินค้าทั้งขาเข้า-ขาออก เป็นอีกเรื่องที่สำคัญเนื่องจากผู้ประกอบการต้องการความสะดวก มีความรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะทำให้ท่าเรือระนองมีความทันสมัย และมีความสะดวกสบายในการใช้งาน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password