รายงานพิเศษ : กยศ. กับ ‘ยุทธการดับทุกข์’ – ปั้มยอดขอกู้เงินเรียนผิดปกติ!
จากบทบาทหน้าที่และภารกิจสำคัญในการให้เด็กไทยที่อยู่ในเกณฑ์รับสิทธิ…ได้ “กู้เงินเรียน” ของกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งมีตัวเลขกลมๆ ของ “นักศึกษาเก่า-ใหม่” ทั่วประเทศในแต่ละปี สูงถึงราว 7 แสนคน กับวงเงินให้กู้ยืมที่มีมากถึง 4 หมื่นล้านบาทแล้ว สิ่งนี้…ย่อมถือเป็นการสร้างโอกาสที่ดี ทั้งต่อ…ตัวเด็ก ต่อครอบครัว ต่อสังคมไทย ต่อเศรษฐกิจไทย และต่ออนาคตของประเทศไทย
แต่ “ในดีย่อมมีเสีย” แฝงเร้นอยู่เสมอ! ดังนั้น โอกาสทั้งหลายทั้งปวง จึงอาจถูกทำลายได้จาก “ขบวนการกลฉ้อฉล – ผลประโยชน์” จากคนบางกลุ่ม ก็เป็นได้?
มีข้อเท็จจริงที่สังคมไทย…อาจยังไม่รับรู้ นั่นก็คือ ทุกวันนี้…มีการ “ปั้มยอดนักศึกษา” ของสถาบันการศึกษาบางแห่งขึ้นมา เพื่อหวัง “กู้เงินเรียน” จาก กยศ. ทั้งที่นักศึกษาบางคน ขาดคุณสมบัติในกู้ยืมเงิน ไม่ว่าจะเป็น…ครอบครัวมีฐานะดีอยู่แล้ว, รายได้ของพ่อแม่ผู้ปกครองมีสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด หรือนักศึกษาเหล่ามีงานทำและมีรายได้ประจำ ฯลฯ
กล่าวกันว่า…ทุกๆ ปี มีคนจำนวนนี้มากถึงนับหมื่นๆ คน ซึ่งนั่นหมายความว่า…นักศึกษาที่ “หลุดเกณฑ์” แต่ถูก “ขบวนการกลฉ้อฉลฯ” ช่วยกัน “สวมรอย” จนได้รับสิทธิ “กู้เงินเรียน” มีมากเท่าใด? ก็จะไปตัดสิทธิและตัดโอกาสที่ดีของเด็กคนอื่นๆ มากเท่านั้น
หากมีคนที่ไม่สมควรได้รับสิทธิ “กู้เงินเรียน”…แต่กลับได้กู้เงินเรียน ราวสัก 2 หมื่นคน นั่นก็จะไปตัดสิทธิและตัดโอกาสของคนอื่นๆ ที่ เขาดูด้อยกว่า…ยากจนกว่า! ไปในสัดส่วน 2 หมื่นคนเช่นกัน
สมมุติว่า…ถ้าจะมี มหาวิทยาลัยสักแห่งหนึ่ง? ที่กำลังสูญเสียรายได้หลัก จากจำนวนนักศึกษาที่สมัครและลงทะเบียนเรียนในแต่ละปีเหลือน้อยลงทุกที จำเป็นที่ ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น ต้อง “หาทำ” ทุกวิถีทางในการสร้างรายได้ใหม่ๆ เข้ามา
ยิ่งเมื่อมี โครงการ “กู้เงินเรียน” ของ กยศ. และนักศึกษาทุกคนที่เข้าเกณฑ์ มีสิทธิจะขอกู้ยืม 100% เพื่อจ่ายเป็นค่าเล่าเรียน (ค่าเทอม/ค่าหน่วยกิต) และค่าใช้จ่ายส่วนตัวในชีวิตประจำวัน
สิ่งนี้…ก็เหมือนจะเป็น “ทางออก” หรือ “แสงสว่างปลายอุโมงค์” ของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น
เพราะหากสามารถ “ปั้มยอดนักศึกษา” โดยประกาศรับสมัครนักศึกษาใหม่เข้าเรียนในทุกๆ ปี อ้างถึงสิทธิในการกู้เงินจาก กยศ. 100% กับ ระบบการสอนและเรียนที่ง่าย…เรียนออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ หรือทั้งหมด ในคอนเซ็ปท์ “เรียนครบ จ่ายครบ จบแน่!” เนื่องเพราะ นักศึกษาบางคน?…อาจไม่ได้เรียนเพื่อหวังองค์ความรู้ใดๆ จากมหาวิทยาลัยเหล่านั้น แต่เพียงแค่ขอให้เรียนจบ…รับปริญญา (ป.ตรีขึ้นไป) ก็เพื่อจะนำไปปรับวิทยฐานะ และ/หรือ ปรับยศ-ตำแหน่งในการทำงาน
แต่ไม่ว่าจะเพื่อเป้าหมายใด? ล้วนเข้าทางของมหาวิทยาลัยข้างต้น เพราะหากสามารถ “ปั้มยอดนักศึกษา” ได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดแล้ว รายได้จำนวนมหาศาล จาก “หนี้เงินกู้” ของนักศึกษาที่มีต่อ กยศ. ก็จะถูก “โอนตรง” ไปยังมหาวิทยาลัยต้นสังกัดดังกล่าวในทันที ที่ตรวจสอบคุณสมบัติของ “ผู้กู้” แล้วเรื่อง “ผ่าน”…
ตัวเลขคร่าวๆ ที่มีการประเมินกันไว้อย่างไม่เป็นทางการ คือ นักศึกษาแต่ละคนที่กว่าจะเรียนจบ (4 ปี) ต้องกู้ยืมเงินจาก กยศ.เฉลี่ยคร่าวๆ ราว 300,000 บาทต่อคน หากหักเงินในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวออกไปราว 10% แล้ว เงินกู้จาก กยศ. ที่เหลือ 90% เพื่อเป็นค่าเทอม/ค่าหน่วยกิต ก็จะไหลเข้าบัญชีเงินฝากของมหาวิทยาลัยต้นสังกัด
ประเมินตัวเลขกลมๆ แล้ว คาดว่า นักศึกษาแต่ละคนที่จะต้องเงินกู้จาก กยศ. เพื่อจ่ายเป็นค่าเทอม/ค่าหน่วยกิตให้กับมหาวิทยาลัย เฉลี่ยราว 270,000 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลา 4 ปี (หรือราว 67,500 บาทต่อปี) และ หากมีนักศึกษาในทุกชั้นปี (ปี 1 – ปี 4) ที่มีสิทธิขอกู้เงินจาก กยศ. ในทุกๆ 1,000 คนแล้ว มหาวิทยาลัยแห่งนั้น ก็จะมีรายได้ฯ ที่ กยศ.โอนตรงไปให้ในแต่ละปี สูงถึง 270 ล้านบาท
แล้วถ้ามหาวิทยาลัยดังกล่าว สามารถจะ “ปั้มยอดนักศึกษา” ให้ไต่ระดับได้ถึง 10,000 – 20,000 คน นั่นก็หมายความหมาย…พวกเขาก็จะมีรายได้สูงถึง 675 – 1,350 ล้านบาทในทุกๆ ปี เลยทีเดียว!
ดังนั้น หาก กยศ.จะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวเลขของนักศึกษาที่ขอกู้ยืมเงินฯในลักษณะ “เติบโตแบบก้าวกระโดด” จนผิดสังเกต!!! เนื่องเพราะมัน “สวนทาง” กับสถานการณ์ทางด้านประชากรศาสตร์ ที่พบว่า…มีตัวเลขคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นน้อยลง ดังนั้น จำนวนนักศึกษาในแต่ละปี ก็ไม่ควรจะเติบโตในลักษณะนี้ ชนิด “สวนทาง” กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศ
ก็ไม่น่าแปลกใจ! หากสังคมไทยจะได้เห็นพฤติการณ์ “ล้อมกรอบ – รุมตี กยศ.” เนื่องเพราะ…กยศ.กำลังจะไปขัดขวางการได้มาซึ่งผลประโยชน์กองมหึมาของพวกเขา
ย้ำว่า…นี่เป็นเรื่องสมมุติ! ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จริงในวันข้างหน้า และเป็นสิ่งที่ คณะผู้บริหารของ กยศ. ภายใต้การนำของ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการฯ จะต้องเตรียมการรับมือเสียแต่เนิ่นๆ
ถ้ามีเหตุการณ์ทำนองนี้ เกิดขึ้นจริง! แน่นอนว่า…ผู้บริหารสถาบันการศึกษานั้นๆ จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งการตรวจสอบจาก กยศ.
เพราะหากจะต้อง สูญเสียรายได้แต่ละปีเฉลี่ยที่กว่า 1,000 ล้านบาท แล้ว สู้ยอม “ทำเงินตกหล่น!” ระหว่างเปิดเกมการต่อสู้…สักแสนสองแสนบาท หรือล้านสองล้านบาท ผ่านการ…สร้างเครือข่ายขึ้นมาอย่างเป็นระบบ เพื่อหวังทำลายภาพลักษณ์ของ กยศ. แล้วล่ะก็
คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม!!! และสิ่งนี้…คงไม่ใช่เรื่องยากอะไรนัก?
คนที่พร้อมจะ “ขายตัว” มีเยอะ! ไม่ว่าจะเป็น…บุคลากรคนสำคัญในแวดวง “องค์กรการศึกษา” หรือ คนในวงการสื่อมวลชน? เขาเหล่านี้…ก็พร้อมจะ “รับลูก” ด้วยการ “รับงาน” ขึ้นมาเพื่อสร้างเงื่อนไขต่างๆ นานา ขึ้นมา สำหรับการหยุดยั้งปฏิบัติการใดๆ ก็ตามของ กยศ. ชนิด…ตาต่อตา ฟันต่อฟัน!
แผนเปิดปฏิบัติการ “จัดฉาก – สร้างเรื่อง” แล้วส่งต่อคอนเทนท์ เพื่อทำลายภาพลักษณ์ กยศ. ผ่านเครือข่ายสื่อกระแสหลักและกระแสรอง โดยเฉพาะ “สื่อออนไลน์” ก็สามารถจะดำเนินการกันได้ง่ายๆ นั่นเพราะ พวกเขามี “ต้นทุนการต่อสู้” พร้อม…ตั้งแต่ต้นน้ำ (ตัวนักศึกษาและมหาวิทยาลัย) กลางน้ำ (องค์กรการศึกษา และสื่อท้องถิ่น) และ ปลายน้ำ (สื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์) คอยสนับสนุนและเกื้อกูลกันอย่างเป็นระบบ และเป็นขบวนการอยู่ก่อนแล้ว
กยศ. ยังโชคดี…ที่ปรากฏการณ์ทำนองนี้ ยังไม่เกิดขึ้น!!! หรือหากจะมีบ้าง? ก็ยังไม่รุนแรงถึงขั้นกลายเป็น “วิกฤติ” ขององค์กร
กระนั้น “วิกฤติ” ในทำนองนี้ ก็สามารถจะเกิดขึ้นได้เสมอ! ดังนั้น จึงจำเป็นที่ผู้บริหารของ กยศ. จะต้องวางแผนรับมือเสียแต่เนิ่นๆ
ดับที่ต้นเหตุ! เมื่อเหตุแห่งทุกข์หายไป อาการระคายเคืองใดๆ ก็ย่อมต้องหายไปด้วยเช่นกัน!!!.